นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดงานสัมมนา “The 2nd SET Annual Con ference on Family Business : Family Business in the Globalized Asia” ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมฟัง 300 ราย ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว ที่เหลือเป็นที่ปรึกษาธุรกิจจากสถาบันชั้นนำทั้งไทยและระดับนานาชาติ ในจำนวนนี้มีกลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู ซึ่งดำเนินกิจการในไทยกว่า 130 ปี, บริษัทสุภารา กรุ๊ป แอนด์ จีคิว แอพพาเรล จำกัด แบรนด์ GQ, แป้งศรีจันทร์, บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ธุรกิจโรงพยาบาล และกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใหญ่ รวมทั้งบริษัทในกลุ่มประเทศ CLMV ที่เป็นเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะชวนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
นายกิติพงศ์กล่าวต่อว่า ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า จำนวน 2 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นธุรกิจครอบครัวหรือมีจำนวน 575 บริษัท เป็นสัดส่วน 67% ของ บจ.ในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด 852 บริษัท และคิดเป็น 50% ของมูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) หรือราว 8 ล้านล้านบาท จากมาร์เก็ตแคป รวมทั้งตลาด 16 ล้านล้านบาท (ณ มิ.ย.67)โดยช่วงเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 59 ถึง มิ.ย.67
บจ.ที่เข้าใหม่มี 200 บริษัท หรือ 76% ของทั้งหมด ที่เป็นธุรกิจที่โตมาจากธุรกิจครอบครัวและมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบว่า มากกว่า 94% บจ.เหล่านี้มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงกว่าตอนขายหุ้น IPO ขณะข้อมูลย้อนหลังปี60-66 พบว่า มีรายได้ กำไร และมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 66 พบว่า ธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 47% หรือ 25.28 ล้านล้านบาท
ขณะที่ บจ.ที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีการจ้างพนักงานรวมกันสูงถึง 1.3 ล้านอัตรา คิดเป็น 74% ของการจ้างงานรวมของทุก บจ. นอกจากนี้ บจ.ที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีความแข็งแกร่งหลายด้าน โดยมีรายได้จากต่างประเทศ 259 บริษัท มีรายได้จากต่างประเทศรวม 2.492 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42% ของรายได้รวมจากต่างประเทศของ บจ.ทั้งหมด ที่สำคัญ บจ.ที่เป็นธุรกิจ ครอบครัวให้ความสำคัญกับการเติบโตยั่งยืน โดยผ่านการคัดเลือกและอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ถึง 119 บริษัท คิดเป็น 62% จากรายชื่อทั้งหมด 191 บริษัท
นายกิติพงศ์กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย เนื่องจากธุรกิจครอบครัวนับเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย โดยมีแผนกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ และระบบงานต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ และขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน
“ตลาดหลักทรัพย์อยากได้ธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นฐานธุรกิจที่ดี เข้ามามากกว่าขนาดเล็ก เพราะบริษัทใหญ่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีการเปิดเผยข้อมูล โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ส่วนบริษัทเล็กสร้างราคาได้ง่าย เจ้าของธุรกิจบางรายไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำแผนชักชวน โดยทำงานเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะให้ความรู้ ความเข้าใจ หาผู้ร่วมทีม พอมีความรู้ เชื่อว่าจะมีธุรกิจอย่างน้อย 100 ราย เตรียมตัวเข้าตลาดใน 10-20 ปี ซึ่งช่วงนี้อาจล่าช้าเพราะตลาดหุ้นไม่ดี แต่เชื่อว่าอีก 3 ปีจะมีธุรกิจครอบครัวเข้ามามากขึ้น แต่เราไม่เน้นจำนวน ที่สำคัญคือคุณภาพมากกว่าปริมาณ เชื่อว่าจะมี บจ.ดีๆเข้ามามากขึ้น”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่