EA กับวิกฤติครั้งใหม่ เมื่อ “ชัชวาลย์” ลาออกหลังนั่งบอร์ด 14 วัน หุ้นกู้-หนี้แบงก์เสี่ยงแก้ยากขึ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

EA กับวิกฤติครั้งใหม่ เมื่อ “ชัชวาลย์” ลาออกหลังนั่งบอร์ด 14 วัน หุ้นกู้-หนี้แบงก์เสี่ยงแก้ยากขึ้น

Date Time: 31 ก.ค. 2567 11:18 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • หุ้น EA เจอวิกฤติความเชื่อมั่นครั้งใหม่ หลัง “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ลาออกจากกรรมการบริษัทหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 14 วัน กระทบความเชื่อมั่น เสี่ยงระดมทุนสร้างกระแสเงินสดได้ยากขึ้น จับตาหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ และหนี้สถาบันการเงิน จะต้องขอเลื่อนชำระหรือไม่

นักลงทุนต่างจับตา บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EA หลัง “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ลาออกจากกรรมการบริษัท โดยระบุว่าติดภารกิจอื่น มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นการลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 14 วัน 


ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของ EA หลังจากนี้หรือไม่ และความเชื่อมั่นที่ลดลง อาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถระดมกระแสเงินสด เพื่อคืนหนี้หุ้นกู้และสถาบันการเงินที่จะครบกำหนดชำระในปี้นี้ได้


สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น EA วันนี้ ณ เวลา 10.25 น. อยู่ที่ 3.70 บาท ลดลง 0.22 บาท หรือ -5.61% จากราคาปิดวันก่อนหน้า


เส้นทางนั่งบอร์ดฯ 14 วัน


จากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษ “สมโภชน์ อาหุนัย” และ “อมร ทรัพย์ทวีกุล” จากประเด็น “ทุจริต” สร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างหนัก ซึ่งต่อมาทั้งสองคนได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่


ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 EA ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติแต่งตั้งให้ นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการบริษัทฯ ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร


นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทเพิ่มเติม ประกอบด้วย นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์, นายวสุ กลมเกลี้ยง และนายฉัตรพล ศรีประทุม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2567


โดย สมใจนึก ประธานบอร์ดฯ EA คนใหม่ ให้ความมั่นใจต่อทิศทางธุรกิจ และเชื่อมั่นว่าบริษัทอยู่ในธุรกิจที่ดีที่มีอนาคต มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ ถึงแม้ว่าคุณสมโภชน์และคุณอมรจะต้องลาออกไป แต่มั่นใจว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ แผนการขยายธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้


แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนถูกกดดันอีกครั้ง หลังวานนี้ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ได้แจ้งขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เนื่องจากติดภารกิจอื่น และอาจส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติงานให้แก่บริษัทฯ ในฐานะกรรมการบริษัทได้อย่างเต็มที่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป


“ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ผู้เชี่ยวชาญการเงิน-พลังงาน


เมื่อเปิดประวัติของ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงินและธุรกิจพลังงาน โดยมีการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตราสารอนุพันธ์ และบริการลงทุนต่างประเทศ และเป็นกรรมการบริหาร ของ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานครบวงจร ผู้นำการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ภายใต้แบรนด์ เวิลด์แก๊ส ด้วย


ทั้งนี้ ชัชวาลย์ มีการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในกิจการ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ 

  • ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
  • ประธานกรรมการ บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการ / กรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการและผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการอิสระ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน)
  • กรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหา บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“ลาออก” กระทบความเชื่อมั่น เสี่ยงลามหนี้หุ้นกู้-แบงก์


ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยบนเฟซบุ๊กว่า หลังจาก “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ได้แจ้งขอลาออกจากบอร์ดฯ EA หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 14 วัน สร้างความหวั่นใจและกลายเป็น Sentiment เชิงลบ เนื่องจากยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการลาออก ทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นหรือหุ้นกู้ของ EA มีความกังวล


ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง อาจทำให้บริษัทระดมทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดได้ยากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตาม คือ หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ และหนี้สถาบันการเงิน จะต้องขอเลื่อนชำระหรือไม่


อย่างไรก็ดี มองว่า EA จะต้องรีบฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ได้เร็วที่สุด และแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังมีการดำเนินธุรกิจ มีสินทรัพย์ พร้อมชี้ให้เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น มาจากปัจจัยเฉพาะตัวของคุณสมโภชน์เท่านั้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อาจทำให้ EA มีโอกาสได้กลับมาอีกครั้ง


หรืออีกทางหนึ่ง คือการพิจารณาขายสินทรัพย์เพื่อสร้างกระแสเงินสด หากไม่สามารถระดมทุนได้หรือธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ เพราะปัจจุบันบริษัทไม่สามารถพึ่งพากระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เพียงอย่างเดียว

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ