กัลฟ์ร่วมกูเกิลลงทุน Data Center

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กัลฟ์ร่วมกูเกิลลงทุน Data Center

Date Time: 28 มิ.ย. 2567 06:20 น.

Summary

  • การประชุม ครม.วันอังคารมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก หรือ Cloud First Policy ซึ่งเป็นนโยบายสนับสนุนการลงทุน Data Center หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในประเทศไทยของรัฐบาล

Latest

เก็บหุ้นปันผล

การประชุม ครม.วันอังคารมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก หรือ Cloud First Policy ซึ่งเป็นนโยบายสนับสนุนการลงทุน Data Center หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในประเทศไทยของรัฐบาล

ต่อมาเย็นวันเดียวกัน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า Gulf Edge บริษัทย่อยที่กัลฟ์ถือหุ้น 100% และเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด (GSA DC) ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (Google) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud air–gapped (GDC aid-gapped) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไร้การเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีเสถียรภาพและความปลอดภัยข้อมูลสูง

ก็ถือเป็น Data Center แห่งแรกของ Google ในประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นแห่งที่ 11 ของโลก ความสำเร็จในการดึง Google เข้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ต้องยกให้เป็นผลงานของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งเดินสายไปประชุมที่สหรัฐฯและได้พบกับผู้บริหารกูเกิล จนนำไปสู่การเซ็นเอ็มโอยูระหว่างกูเกิลกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยรวมทั้งการประกาศนโยบาย Cloud First Policy ในที่สุดกูเกิลก็มาจับมือกับกัลฟ์เพื่อตั้งดาต้าเซ็นเตอร์คลาวด์ขึ้นในประเทศไทย

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ GDC air-gapped ในไทยก็มี กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญ หรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ พลังงาน สาธารณูปโภค หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น

ในวันเดียวกันหลังการประชุม ครม. นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็ได้เรียกประชุม กพช. และมีมติเห็นชอบ “โครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้างานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง” หรือ Direct PPA (Direct Power Purchase Agreement) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ Google ในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า กูเกิลต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน และต้องการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดโดยตรง เพื่อให้ได้ไฟฟ้าราคาถูกในระยะยาว โดย นายกฯเศรษฐา คาดว่าจะสามารถเปิดให้ซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ได้ภายในปีนี้

การลงทุน Data Center ของ Gulf กับ Google ครั้งนี้ ถือว่าได้รับบริการจากรัฐบาลแบบ One Stop Services อย่างแท้จริง ทุกอย่างเสร็จสิ้นในวันเดียวกัน 25 มิถุนายน ตั้งแต่นโยบายไปจนถึงการปลดล็อกเงื่อนไขและการลงนามร่วมลงทุนของเอกชน

ธุรกิจ คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็น ธุรกิจดาวรุ่งของโลก ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากการ์ทเนอร์ระบุว่า ปี 2023 รายได้ธุรกิจ Cloud Services ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 597,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 21.8 ล้านล้านบาท คาดว่าปีนี้ 2024 ธุรกิจบริการคลาวด์ทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 724,566 ล้านดอลลาร์ ราว 26.5 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 83.95 ล้านล้านบาท ในปี 2032

ธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยที่ รัฐบาลลุงตู่ เคยแถลงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ระบุว่า มูลค่าบริการระบบคลาวด์ในไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 31.7% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 54,800 ล้านบาท ปีนี้มีดาต้าเซ็นเตอร์เอกชนเกิดขึ้นอีกมากมาย ผมคาดว่าธุรกิจคลาวด์ในไทยน่าจะโตมากกว่า 32% มูลค่าอาจมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ปีหน้าอาจจะถึงแสนล้านบาท

ธุรกิจไฮเทคจะส่งผลให้ “เจ้าสัวกลาง” สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอ ผู้ถือหุ้นใหญ่ GULF มหาเศรษฐีหุ้นไทย 5 สมัย จากการจัดอันดับของ วารสารการเงินธนาคาร และ มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของไทยจากการจัดอันดับของ ฟอร์บส์ รวยขึ้นอีกมหาศาลในอนาคตแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ