เปิดประวัติ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานฯ STARK จากดีลเมกเกอร์ สู่คดีฉ้อโกงกว่า 1.4 หมื่นล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดประวัติ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานฯ STARK จากดีลเมกเกอร์ สู่คดีฉ้อโกงกว่า 1.4 หมื่นล้าน

Date Time: 23 มิ.ย. 2567 16:17 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ชนินทร์ เย็นสุดใจ ได้รับหมายจับจาก DSI เมื่อ 7 กรกฎาคม 2566 และเพิ่งถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากเดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2567 เป็นเวลาเกือบ 1 ปีของคดีประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย ที่ยังต้องจับตามองผลการดำเนินคดีและการชดใช้ค่าเสียหายแก่นักลงทุนในคดีหุ้นกู้ STARK

Latest


ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เกิดวันที่ 24 กันยายน 2502 ปัจจุบันอายุ 64 ปี


ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ Worcester Polytechnic Institute สหรัฐอเมริกา 


ประวัติการทำงาน 

  • ปี 2564 ประธานกรรมการ บริษัท ไทย เอ็นคอม จำกัด
  • ปี 2563 กรรมการ บริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด
  • ปี 2563 กรรมการ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
  • ปี 2562 ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • ปี 2562 กรรมการ บริษัท Stark Investment Corporation Limited
  • ปี 2559 กรรมการ บริษัท ไทย คอปเปอร์ ร็อด จำกัด
  • ปี 2558 กรรมการ บริษัท พีดีทีแอล เทรดดิ้ง จำกัด
  • ปี 2558 ประธานกรรมการ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
  • ปี 2557 กรรมการ บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • ปี 2557 กรรมการ บริษัท คอนเนคชั่นเลทด์เซอร์วิส จำกัด 
  • ปี 2554 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

จากดีลเมกเกอร์ สู่ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ ฟอกเงิน 


ชนินทร์ เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ฟอร์บส์ ประเทศไทย เมื่อปี 2565 ไว้ว่า เขาต้องการให้ภายนอกรับรู้ว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ STARK เป็น Growth Company สำหรับนักลงทุนระยะยาว เป็นบริษัทที่สถาบันการเงินไว้ใจ เป็น Employer of Choice และเป็น Partner of Choice สำหรับผู้สนใจลงทุนหรือหาพันธมิตรร่วมลงทุนในประเทศไทย 


เขาให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า “การสั่งสมประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้มาถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากวัยเด็กที่ใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เรียนอนุบาล ทำให้เข้าใจในตลาดเสรี ภาษา และการเปิดกว้างทางความคิด ส่วนการเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้มีกระบวนการที่ชัดเจนและละเอียด”


ผ่านประสบการณ์ทำงานกับบริษัทต่างชาติในลิสต์ Fortune 100 เคยทำธุรกิจของตนเองและเข้าไปทำงานกับบริษัทมหาชนและเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง เห็นวงจรธุรกิจตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540) ถึงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551-2552)


ก่อนหน้านี้ สื่อหลายแห่งให้นิยามเขาคือ “ดีลเมกเกอร์” โดยนับตั้งแต่ปี 2543 ชนินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เปาโลเมดิค จำกัด และปี 2546 ชนินทร์ นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด ซึ่งถือหุ้นหลักในบริษัท โรงพยาบาลพญาไท 1 จำกัด, บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 2 จำกัด และ บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 3 จำกัด และต่อมาในปี 2548 เมื่อ “วิชัย ทองแตง” เข้าซื้อหุ้น บริษัท ประสิทธิ์พัฒนาฯ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ชนินทร์ก็ยังเป็นกรรมการในบริษัท ประสิทธิ์พัฒนาฯ อยู่


ชนินทร์เป็นกรรมการบริษัท รวมถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในหลายบริษัท และได้รับความไว้วางใจจาก “ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ทีโอเอ กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ซึ่งมีธุรกิจครอบคลุม 7 กลุ่มธุรกิจ และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SWC ซึ่งชนินทร์เคยนั่งตำแหน่งประธานกรรมการ และในปี 2562 นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 


กระทั่ง 18 เมษายน 2566 STARK มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ชนินทร์ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการ STARK พร้อมกรรมการอื่นๆ รวม 7 คน เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กรรมการของบริษัทได้อย่างเต็มความสามารถ 


ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกเอกสารเลขที่ 116/2566 ระบุว่า ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อยในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ หรือ เปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมถึงปกปิดความจริงในข้อมูล Factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 


ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ มีดังนี้

  1. บริษัท STARK
  2. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ
  3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  4. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี
  5. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
  6. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม
  7. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
  8. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
  9. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด
  10. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 


ในวันต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ออกหมายจับ “ชนินทร์” เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้หลบหนีจากการติดตามของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและได้มีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหา 

กระทั่ง 23 มิถุนายน 2567 DSI ควบคุมตัว “ชนินทร์” ที่เพิ่งเดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในช่วงเช้า แล้วนำตัวไปบันทึกการจับกุม และพบกับพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวชนินทร์ 48 ชั่วโมง ก่อนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษส่งฟ้องต่อศาลอาญา ตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ชนินทร์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน ข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์