ตลท. เริ่มใช้ Uptick 1 ก.ค.นี้ รับบางโบรกเกอร์ระบบไม่พร้อม จับตาผลกระทบใกล้ชิด

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลท. เริ่มใช้ Uptick 1 ก.ค.นี้ รับบางโบรกเกอร์ระบบไม่พร้อม จับตาผลกระทบใกล้ชิด

Date Time: 18 มิ.ย. 2567 16:56 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศความคืบหน้ามาตรการยกระดับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน คาดใช้ Uptick 1 ก.ค.นี้ รับบางโบรกเกอร์ระบบไม่พร้อม จับตาผลกระทบใกล้ชิด

Latest


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศความคืบหน้าของการดำเนินการมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน หลังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบในหลักการและรายละเอียดเพิ่มเติมของมาตรการต่างๆ ในการประชุมที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าการกำหนดเกณฑ์รายชื่อหุ้นที่อนุญาตให้ชอร์ตเซลได้ และมาตรการพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย หรือ Uptick Rule จะสามารถประกาศใช้ได้พร้อมกันภายในวันที่ 1 ก.ค. 2567


รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร และในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ ได้มีการเพิ่มเติมหลักการในมาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้น โดยได้มีการแก้ไขเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับรายชื่อหุ้นที่อนุญาตให้ทำการชอร์ตเซลได้


โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเกณฑ์ให้หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET100 สามารถทำการขายชอร์ตได้ ส่วนกรณีหุ้นที่ไม่อยู่ในดัชนี SET100 กำหนดให้มีมาร์เก็ตแคปที่ 7,500 ล้านบาท และมีอัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ย 12 เดือนที่อย่างน้อย 2% โดยจะมีการประกาศเกณฑ์ดังกล่าวในวันที่ 21 มิ.ย. 67 และจะประกาศรายชื่อหุ้นที่สามารถชอร์ตเซลได้ ในวันที่ 24 มิ.ย. 67


พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมประกาศใช้มาตรการพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซล ด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย หรือ Uptick Rule กับทุกหลักทรัพย์ ในวันที่ 1 ก.ค. 67


อย่างไรก็ตาม มาตรการ Uptick เป็นมาตรการสำคัญที่จะมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ซึ่งปัจจุบันพบว่าบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) ส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมแล้ว ส่วนบริษัทสมาชิกบางรายที่ยังไม่มีความพร้อม มองว่าต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบให้สามารถรองรับเกณฑ์ดังกล่าวได้


ส่วนการเพิ่มมาตรการ Circuit Breaker รายหุ้น หรือ Dynamic Price band ซึ่งเป็นมาตรการที่จะกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคาเอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป คาดว่าเฟสแรกจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในไตรมาส 3/67 และในเฟสที่ 2 จะมีการกำหนดให้ใช้กับหลักทรัพย์ที่มีหุ้นนั้นเป็นหุ้นอ้างอิงด้วย คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในไตรมาส 1/68


ขณะที่มาตรการ Auto Halt เป็นมาตรการที่จะช่วยเข้ามาควบคุมหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายที่ผิดปกติ และการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เลื่อนไปบังคับใช้ภายในไตรมาสที่ 1/68 จากเดิมคาดไตรมาส 4/68 


รองรักษ์ กล่าวอีกว่า มีความคาดหวังว่ามาตรการต่างๆ นั้นจะสามารถช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการติดตามประสิทธิผลหลังการบังคับใช้มาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวน ปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทุก 3-6 เดือน


ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อาจสะท้อนมาที่ปริมาณการซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยสำหรับการประเมินประสิทธิผลของมาตรการ


“การกำกับดูแลชอร์ตเซลที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนกลับมาได้” รองรักษ์ กล่าว

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์