เจาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไทย หนุน "โรงแรม" ลูกค้าพักนานขึ้น หุ้น CENTEL รับผลบวกมากสุด

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไทย หนุน "โรงแรม" ลูกค้าพักนานขึ้น หุ้น CENTEL รับผลบวกมากสุด

Date Time: 30 พ.ค. 2567 07:39 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • - เจาะหุ้นกลุ่มโรงแรม ได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว
  • - CENTEL รับประโยชน์มากที่สุด จากสัดส่วนรายได้ในประเทศที่มีจำนวนมาก

รัฐบาลยังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่พยายามดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาประเทศไทยมากที่สุด และหาวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในไทยยาวนานมากที่สุด โดยนักวิเคราะห์ มองว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มโรงแรม จากการเข้าพักของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น และระยะเวลายาวนานขึ้น ทำให้อัตราการเข้าพักนั้นดีขึ้น 

บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไทยเพิ่ม หลักๆ คือ ประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จาก 57 ประเทศ เป็น 93 ประเทศ 


โดยขยายขอบเขตประเทศและดินแดนใหม่ เช่น ไซปรัส ฟิจิ จอร์เจีย มอลตา ปาปัวนิวกินี โรมาเนีย อุซเบกิสถาน ฯลฯ ฝ่ายวิจัยมองบวกต่อข่าวดังกล่าวเล็กน้อย โดย 57 ประเทศเดิมไม่ต้องขอวีซ่าเข้าไทย อาทิ กลุ่มประเทศยุโรป เช่นเดียวกับ จีน ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในปีนี้ สามารถพำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน 


ขณะที่ปัจจุบันมี 3 ประเทศ หรือดินแดนได้รับมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราชั่วคราว ได้แก่ คาซัคสถาน สิ้นสุด 31 ส.ค. 67, อินเดีย และไต้หวัน สิ้นสุด 11 พ.ย. 67 พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ด้านไซปรัส ฟิจิ มอลตา ปาปัวนิวกินี โรมาเนีย อุซเบกิสถาน เดิมสามารถเข้าไทยได้โดยการขอ Visa on arrival และพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน  


ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่สูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ดังนั้นตามความเห็นฝ่ายวิจัยมาตรการเพิ่มเติมข้างต้น ประเมินช่วยเอื้อต่อการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติเล็กน้อย แต่มีโอกาสช่วยหนุนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 วัน) โดยเฉพาะกลุ่มระยะไกล อย่างนักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาที่มีวันพักเฉลี่ย 16.8 วัน และ 14.5 วัน ตามลำดับ


ผลดังกล่าวทำให้ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ทำให้จะเป็นผลดีต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมไทย (บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW) มากกว่า สนามบิน อย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จากวันเข้าพักที่เพิ่มขึ้น หนุนต่ออัตราเรตราคาที่พัก หรือ Occupancy rate และดีต่อเนื่องถึงค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) โดยระยะเวลาพำนักที่ยาวนาน เหมาะกับเมืองตากอากาศในต่างจังหวัด มากกว่า กทม.


จึงประเมินว่า CENTEL ที่มีสัดส่วนรายได้โรงแรมต่างจังหวัด 46% กทม. 25%, ต่างประเทศ และอื่นๆ ราว 29% ของรายได้โรงแรม ได้ประโยชน์จากมาตรการข้างต้นมากกว่า ERW ที่สัดส่วนรายได้อยู่ใน กทม. ราว 60% ด้าน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เนื่องจากสัดส่วนรายได้ ราว 50% มาจากใน ยุโรป


ผลดังกล่าวทำให้ MINT ได้ประโยชน์น้อยกว่ากลุ่มโรงแรมไทย  อย่างไรก็ตามกลุ่มท่องเที่ยวนั้น ให้น้ำหนักการลงทุนที่เท่ากับตลาด  ด้วยราคาหุ้นในกลุ่มโรงแรมระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง  มองว่าแรงกดดันด้าน Low season ของท่องเที่ยวไทย ได้ถูก สะท้อนลงในราคาหุ้นบางส่วนแล้ว ภายใต้มาตรการกระตุ้นข้างต้น 


ประกอบกับ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย สัปดาห์ที่ 4 ของ พ.ค. 67 (20–26 พ.ค.) ที่ 5.96 แสนคน เพิ่มติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 ราว 4% จากสัปดาห์ก่อน อาจใกล้เข้าสู่การผ่านจุดต่ำสุดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 


หากการเมืองไทยไม่มีความไม่แน่นอนเพิ่มเติม ประเมินราคาหุ้นใน กลุ่มท่องเที่ยวมีลุ้นฟื้นตัว โดยกลุ่มโรงแรมยังคงชอบ CENTEL ที่ราคาเหมาะสม 46 บาท มากกว่า ERW ที่ราคาเหมาะสม 5.5 บาท  ที่ใกล้เข้าสู่ช่วงใช้สิทธิ ERW-W3 ราคาใช้สิทธิ 3 บาท อาจส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนกว่าปกติ 

ขณะที่ MINT ราคาเหมาะสม 35 บาท แม้ไตรมาส 2 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวในยุโรป ทำให้การดำเนินงานเชิง QoQ ดีกว่ากลุ่มฯ แต่ราคาหุ้น Outperform กลุ่มฯ มาแล้วเช่นกัน จึงคงมุมมองว่าที่ราคานี้ความน่าสนใจลดลง ส่วน AOT ราคาเหมาะสม 74 บาท คงคำแนะนำ Outperform จากผลกระทบ low season ต่ำ กว่าหุ้นโรงแรมไทย และทิศทางกำไรปี 2567 ขยายตัวเด่นกว่ากลุ่มฯ บนแนวโน้ม ROE ปี 2567–69 ที่ 16% / 17% / 19% สูงสุดในกลุ่มฯ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ