ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เดินหน้าสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทต่างชาติในตลาดหุ้นไทย และเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาค (Regional Financial Hub)
ทั้งนี้ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีสัญญาณบวกหลายด้านสำหรับตลาดหุ้นไทย โดยมีความเป็นไปได้ที่เม็ดเงินจากการลงทุนต่างชาติจะไหลกลับ เนื่องจากดอกเบี้ยจะเริ่มปรับตัวลดลง พร้อมจับตาการกลับมาของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
นอกจากนี้ ได้วางเป้าหมาย 5 ด้าน เพื่อก้าวสู่ปีที่ 50 เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ การยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค, การขยายโอกาสการระดมทุน, การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล, การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยี AI และการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีจุดมุ่งหมายในการทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นตลาดที่เติบโตไม่เพียงในประเทศ แต่ให้มีบริษัทจากต่างประเทศมาระดมทุน และนักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์จากต่างประเทศได้นั้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยได้หลายรูปแบบ เช่น การระดมทุนผ่าน Holding Company, ตลาดแรก (Primary Market), ตลาดรอง (Secodary Market), กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infastructure Trust) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้มีการเตรียมไว้ให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาใช้แล้ว
“อนาคตเราจะเห็นบริษัทที่ทำธุรกิจในประเทศไทย หรือในภูมิภาค ใช้ตลาดทุนไทย ใช้ธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อขยายกิจการมากขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของเรา” ภากร กล่าว
นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ในตลาดหุ้นไทยได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่าน DR หรือ DRx
ทั้งนี้จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา มีความพยายามสนับสนุนให้ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น “Regional Financial Hub” มาโดยตลอด ซึ่งในอนาคตสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คือจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดได้ง่ายขึ้น
ภากร กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดทุนไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 เริ่มเห็นความชัดเจนและสัญญาณบวกหลายด้าน และในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ มักจะมีครึ่งปีที่ดี และครึ่งปีที่ดีไม่เท่ากัน จึงอยากฝากนักลงทุนให้ติดตามข้อมูลให้ดี หากเศรษฐกิจจะกลับมาดี สิ่งแรกที่จะเห็นคือการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น จากดัชนีจะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน เห็นสัญญาณของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีมุมมองกับตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยจะเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้สภาพคล่องกลับมา และมีโอกาสที่เม็ดเงินจะไหลกลับมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
สำหรับประเด็นการตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มองว่า เนื่องจาก LTF ไม่มีมาหลายปีแล้ว ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นจะมีแต่เรื่องที่เป็นปัจจัยบวก แต่จะบวกช้าหรือเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม
ส่วนประเด็นที่กระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้พิจารณาทบทวนการถือหุ้นไทย เพื่อบริหารแผนการลงทุนสร้างผลกำไรให้รัฐ นั้น มองว่า เป็นเรื่องดี จากการที่มีหุ้นเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของหุ้นบริษัทต่างๆ สูงขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น พร้อมกันนี้ มีความเชื่อว่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่นั้น เป็นหุ้นที่มีคุณภาพ
ภากร กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในปี 2518 และก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงานในปีนี้ หากมองไปในอนาคต ตลาดทุนจะยังพบความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน โดยมองบทบาทที่จะเปลี่ยนไปและมุ่งสู่เป้าหมายอนาคต ใน 5 ด้าน ได้แก่
1.ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทในประเทศและต่างประเทศ
2.ขยายโอกาสการระดมทุน ให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ และ SMEs Startups
3.พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัล เข้ามาเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่
4.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่ง โดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้านเพิ่มขึ้น
5.ขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเตรียมบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ๆ
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้