หลังจากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลการซื้อขายที่อาจผิดปกติในตลาดหุ้นไทย ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องพิจารณาในการฟื้นความเชื่อมั่นด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเพื่อช่วยในการตรวจสอบความผิดปกติ และได้มีการพิจารณาออก 14 มาตรการใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการใช้มาตรการควบคุมการซื้อขายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ว่า ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาในการใช้ 14 มาตรการ โดยจะมีมาตรการชุดแรกเริ่มใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยจะนำร่องจากการทวบทวนหลักทรัพย์ที่จะนำมา Short Selling แลการใช้ Uptick ในทุกหลักทรัพย์ก่อน ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์มองว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบกับมูลค่าการซื้อขายให้ปรับลดลง
“มาตรการที่ควบคุมดูแลการทำ Short Selling เรามองว่าจะไม่กระทบกับมูลค่าการซื้อขายต่อวัน เพราะในการส่งคำสั่งซื้อขายมีหลายปัจจัย ไม่ได้มีเพียงแค่ผลกระทบจากมาตรการอย่างเดียว ซึ่งเราได้ศึกษาในส่วนนี้ไปแล้ว”
ทั้งนี้ มาตรการที่เริ่มบังคับใช้ไปแล้ว คือ การรายงานข้อมูล Outstanding Short Position ส่วน มาตรการที่คาดจะเริ่มใช้ได้ในปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ได้แก่ การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ ให้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 7,500 ล้านบาท การบังคับให้ Short Selling นั้นจะทำได้ในราคา Uptick ในทุกหลักทรัพย์ และเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 จะยังมีการเปิดเผยข้อมูลการส่งคำสั่งไม่เหมาะสม และการเปิดลงทะเบียน ผู้ส่งคำสั่งแบบความเร็วสูง หรือ HFT มาตรการเพิ่มบทลงโทษสมาชิกให้สูงขึ้น 3 เท่า การเปิดเผยข้อมูลการถือหุ้น NVDR โดยมาตรการในกลุ่มแรกนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อย่างใกล้ชิด จึงมั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาส 2 นี้
ส่วนมาตรการที่เริ่มใช้ไตรมาสที่ 3 การเพิ่มมาตรการ Auction ในหุ้นที่มีความผิดปกติ โดยจะอยู่ในมาตรการกำกับซื้อขายหลักทรัพย์ T2 และในไตรมาสที่ 4 จะเริ่มใช้ Auto halt รายหุ้น การจัดให้มี Central Platform ในการเช็กหลักทรัพย์ก่อนขาย และการกำหนดเวลาขั้นต่ำของการส่งคำสั่งก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งได้ และมาตรการที่จะเริ่มใช้ได้ในต้นปี 2568 คือ การ Central Order Screening
ส่วนมาตรการ เพิ่มเกณฑ์กำหนดปริมาณห้าม Short Selling นั้น มาตรการดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันมีการกำหนดอยู่ที่ 10% ของหุ้นทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีการ Short Selling อยู่ในระดับ 1% ของหุ้นทั้งหมด ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการดังกล่าวเหมาะสมอยู่แล้ว
สำหรับประเด็นของ พิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง และให้มีผลในวันที่ 25 เม.ย.นี้ โดยการลาออกดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการคัดสรรประธาน คนใหม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นผู้ดำเนินการ