บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ประกาศกำไรไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 มีกำไรสุทธิ 2,425 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 85% หลังจากไม่มีรายการพิเศษ
SCC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เอสซีจีมีรายได้จากการขายเท่ากับ 124,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากยอดขายที่สูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ EBITDA เท่ากับ 12,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง เป็นผลมาจากสินค้ากรีนและ การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน จากกำไรที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกธุรกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจีมีรายได้จากการขายลดลง 3% ส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง และปริมาณขายที่ลดลงของ ธุรกิจเคมิคอลส์อย่างไรก็ตาม EBITDA เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง ในขณะที่กำไรสำหรับงวดลดลง 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีรายการพิเศษ จากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics ซึ่งไม่ใช่รายการเงินสด มูลค่า 11,956 ล้านบาท
ประกอบกับไตรมาสนี้ ผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ ลดลง ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เอสซีจีมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 1,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 173 ล้านบาท หรือ 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมใน ธุรกิจเคมิคอลส์คิดเป็น 26% ของทั้งหมด หรือ 458 ล้านบาท ลดลง 182 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในธุรกิจอื่นคิดเป็น 74% ของทั้งหมด หรือ 1,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 355 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน
เอสซีจีมีเงินปันผลรับในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เท่ากับ 207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม (เอสซีจี ถือหุ้น 20-50%) เท่ากับ 114 ล้านบาท และจากบริษัทอื่น (เอสซีจีถือหุ้นต่ำกว่า 20%) เท่ากับ 93 ล้านบาท
เอสซีจียังคงมีโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคงโดยมีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เท่ากับ 78,585 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 68,064 ล้านบาท เอสซีจีมีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 106,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10% โดยมี อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือต่อต้นทุนขายเท่ากับ 70 วัน ลดลงเมื่อเทียบกับ 75 วัน ในไตรมาสก่อน (ไตรมาสที่ 4 ปี 2566)