KKP กำไร 1.5 พันล้าน ลด 27.8% รับตลาดทุนซบเซา กระทบค่าฟี ดอกเบี้ยสูงทำต้นทุนการเงินพุ่ง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

KKP กำไร 1.5 พันล้าน ลด 27.8% รับตลาดทุนซบเซา กระทบค่าฟี ดอกเบี้ยสูงทำต้นทุนการเงินพุ่ง

Date Time: 19 เม.ย. 2567 09:56 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยไตรมาส 1/67 กำไร 1.5 พันล้านบาท ปรับลดลง 27.8% จากไตรมาส 1/66 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงตามภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซา กระทบรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด

Latest


ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KKP รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ไตรมาส 1/67 ธนาคารเกียรตินาคินภัทรและบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิจํานวน 1,506 ล้านบาท ปรับลดลง 27.8% จากไตรมาส 1/66 ที่มีกำไรสุทธิ 2,085 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้น 124.9% หากเทียบกับไตรมาส 4/66 


โดยรายได้จากการดําเนินงานรวมสําหรับไตรมาส 1/67 มีจํานวน 6,832 ล้านบาท ปรับลดลงเล็กน้อยที่ 1.6% หากเทียบกับไตรมาส 1/66 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นที่ 0.6% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 8.1% ตามภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง


ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าประกัน ปรับลดลงเช่นกันตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ ทางด้านค่าใช้จ่ายธนาคารยังสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ 42.4% 


ธนาคารคงความรอบคอบและมีการสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังและจากมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นโดยผล ขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นจํานวน 609 ล้านบาท ลดลง 44.5% หากเทียบกับไตรมาส 1/2566 นอกจากนี้แล้วในไตรมาส 1/2567 ภายใต้หลักการบริหารคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งธนาคารได้มีการสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.8% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ณ สิ้นปี 2566 จากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายดังกล่าว


ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยรวมแล้วยังบริหารได้ในระดับที่ดี สําหรับอัตราส่วนสํารองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 137.3%


สำหรับไตรมาส 1/67 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 5,253 ล้านบาท เพิ่มข้ึน 0.6% จากไตรมาส 1/2566 โดยรายได้ดอกเบี้ยมีจำนวน 7,881 ล้านบาท ปรับเพิ่มข้ึน 12.7% จากการเพิ่มข้ึนของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มข้ึน 21.0% ตามการขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 


ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมีจํานวน 2,629 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 48.3% จากไตรมาส 1/66 จากต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามภาวะการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยอัตราดอกเบี้ยจ่ายสําหรับไตรมาส 1/67 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.4% รวมแล้วส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสําหรับไตรมาส 1/67 ปรับลดลงอยู่ที่ 4.9%


ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน มีจํานวน 4,316 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 33.3% จากไตรมาส 1/66 จากผลขาดทุนจากการขายรถยึดมีจํานวน 1,443 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.4% หากเทียบกับไตรมาส 4/66 โดยธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากปริมาณรถยึดคงค้างที่มีการทยอยปรับตัวลดลง ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาส 1/66 ขาดทุนจากการขายรถยึดปรับเพิ่มขึ้น 28.8% ตามการบริหารจัดการปริมาณรถยึดคงค้าง


ในระหว่างไตรมาส 1/2566 ธนาคารมีการโอนกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเป็นจํานวน 619 ล้านบาท จากการที่ธนาคารได้มีการปรับประมาณการค่าเพื่อการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเพื่อให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ในขณะที่ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารไม่มีรายการดังกล่าว


หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินรอการขายธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานต่อรายได้สุทธิสําหรับไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 42.4%


ด้านนโยบายการเงิน ในปี 2567 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

รวมทั้งยังมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ภายในปลายปี 2567 จากมุมมองของ กนง. ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อทําให้คาดว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 2567


ในส่วนของภาวะตลาดรถยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์หดตัว 21.5% นําโดยการหดตัวของกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ 28.0% และ 9.3% ตามลําดับ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มรายได้และกําลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง


ทางด้านตลาดทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาด ศักยภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ในไตรมาส 1/2567 ปรับลดลง 2.7% โดยปิดที่ 1,377.94 จุด จาก 1,415.85 จุด ณ สิ้นปี 2566 ทางด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด เอ็ม เอ ไอ ในไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 45,717 ล้านบาท ปรับลดลงที่ 14.3% จาก 53,331 ล้านบาท ในปี 2566.

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์