บริษัท สิงคโปร์ แอร์ไลน์ จำกัด (Singapore Airlines) หรือหุ้น SIA กลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายการบินอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว หลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 แม้ไร้การให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ด้านผู้บริหารฯ คาดอุตสาหกรรมการบินฟื้นต่อเนื่อง หลังความต้องการเดินทางในหลายภูมิภาคยังแข็งแกร่ง ลุยจับมือพาร์ตเนอร์ขยายเส้นทางให้บริการ พร้อมตั้งเป้าทำกำไรทุกปี
ทั้งนี้ SIA เข้าจดทะเบียน DR ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 ภายใต้ชื่อหลักทรัพย์ “SIA19” โดยบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
Siva Govindasamy, Divisional Vice President Public Affairs, Singapore Airlines เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า หลังจากผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยกลับมาเปิดให้บริการเกือบทุกประเทศแล้วกว่า 120 เส้นทาง และมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด นับเป็นความสำเร็จในการบริหารจัดการ ที่ทำให้สามารถเป็นผู้นำเหนือสายการบินอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการบินได้
ทั้งนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมการบิน ทั้งในแง่ของการทำกำไร และการบริการลูกค้าระดับโลก (World class service) รวมทั้งประสบความสำเร็จอย่างมากในการให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน และหากดูที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ที่มีมาร์เก็ตแคปฯ สูงที่สุดในอุตสาหกรรม นั่นทำให้บริษัทมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2567 นี้ คาดว่าความต้องการใช้บริการยังคงแข็งแกร่ง ในหลายภูมิภาค เช่น เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น สะท้อนจากปริมาณการจองตั๋วล่วงหน้าที่ยังคงหนาแน่น จากความต้องการการเดินทางเพื่อพักผ่อนและการเดินทางเพื่อธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะดำเนินธุรกิจให้ได้ผลกำไรอย่างต่อเนื่องทุกปี
“หากดูในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เราได้รายงานสถิติการดำเนินงานของเราสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารถือว่าอยู่ในระดับดีมาก ดังนั้น จึงทำให้เรามั่นใจว่าเราจะทำได้ดีต่อไป” Siva กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทยังหาโอกาสขยายการให้บริการ ผ่านความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีการร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เช่น การตั้งสายการบิน Vistara ในการให้บริการเที่ยวบินในอินเดีย, ความร่วมมือกับสายการบิน Lufthansa เพื่อให้บริการเที่ยวบินในเยอรมัน และความร่วมมือกับสายการบิน Air New Zealand เพื่อให้บริการเที่ยวบินในนิวซีแลนด์ เป็นต้น
สำหรับสายการบินสกู๊ต (Scoot) สายการบินราคาประหยัด ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท มีแผนขยายอีก 6 เส้นทางการบินในปีนี้ เพื่อขยายการให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เส้นทางกระบี่, หาดใหญ่, เกาะสมุย ในประเทศไทย และซีบู มีรี, กวนตัน ในประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ บริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (2566-2570) ไว้ราว 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4.72 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น การลงทุนด้านอากาศยาน ราว 1,900-4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 5.13 หมื่นล้านบาท ถึง 1.08 แสนล้านบาท) และการลงทุนด้านอื่นๆ ราว 300-400 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 8.1 พันล้านบาท ถึง 1.08 หมื่นล้านบาท)
บริษัทยังมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งปีที่แล้วประกาศจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 โดยคณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายปันผลมาโดยตลอด ถือเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น เพราะช่วงที่เกิดวิกฤติพวกเขาให้การสนับสนุนบริษัทอย่างมากจากการระดมทุน
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้