บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BTS ผู้ให้บริการเครือข่ายระบบขนส่งมวลชน “รถไฟฟ้าบีทีเอส” กำลังเป็นที่น่าจับตา หลังประกาศขายหุ้นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KEX ออกไป ทำให้นักลงทุนต่างคาดหวังว่า BTS จะสามารถมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น รวมถึงไม่ต้องรับการขาดทุนสะสมจากเคอรี่ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการช่วงที่ผ่านมา
โดย BTS รายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ของปี 2566/67 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 ขาดทุนสุทธิ 5,277 ล้านบาท โดยระบุว่ามีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ของผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX และส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนใน Rabbit Holdings และ JMART
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BTS ตั้งแต่ต้นปี พบว่าปรับตัวลดลงมามากกว่า 15.86% มาอยู่ที่ 6.05 บาทต่อหุ้น ณ ราคาปิดวันที่ 5 เมษายน 2567 โดยราคาปรับตัวลดลงสูงสุดเหลือเพียงที่ 4.96 บาท หรือลดลงตั้งแต่ต้นปีมากกว่า 31.59% ในวันที่ 5 มีนาคม 2567 โดยราคาหุ้นค่อยๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาหลังประกาศขายหุ้น KEX ออกไป
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดว่าผลประกอบการปี 2568 จะพลิกกลับมามีกําไรได้ที่ 252 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น และไม่มีขาดทุนจาก KEX โดยผู้บริหารให้เหตุผลหลักๆ ในระหว่างการพิจารณาว่าจะขายหุ้น KEX ว่า เพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงงบกําไรขาดทุนของบริษัทต่อไปหลังจากนี้
ดังนั้น คาดว่าจะเห็นการขายหุ้น KEX ออกไปบางส่วน เนื่องจากต้นทุนหุ้น KEX หลังบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าอยู่ที่ 5.5 บาท/หุ้น จะไม่เห็นการบันทึกกําไรพิเศษจากการขาย
ทั้งนี้ BTS ยังชี้แจงว่าหนี้ที่ กทม. เตรียมที่จะจ่ายค่า E&M กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงเงินอุดหนุนสายสีชมพูและเหลืองที่ได้จากรัฐบาลนั้น บริษัทจะไม่มีการบันทึกเงินส่วนนี้เข้าไปที่งบกําไรขาดทุน สําหรับจํานวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS นั้น บริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2568 สอดคล้องกับที่เราคาดการณ์
ด้าน บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเด็นเรื่องการตั้งด้อยค่าเงินลงทุน บริษัทได้บันทึกรายการด้อยค่าเงินลงทุนรายการใหญ่ๆ เงินลงทุนในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KEX และเงินลงทุนในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SINGER ของ Rabbit Holdings ไปหมดแล้วในไตรมาส 3/66 ผู้บริหารจึงคาดว่าในปีงบประมาณหน้า (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) จะไม่มีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนรายการใหญ่ๆ อีก
ขณะเดียวกัน BTS คาดว่าจะได้รับเงินคืนหนี้จาก กทม. สําหรับงาน E&M สายสีเขียว จํานวน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้น และคาดว่าจะได้รับเงินคืนหนี้สําหรับงาน O&M ภายในปี 2567/2568 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2568) ด้วย แต่ประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว (Core Network) ซึ่งสัญญาสัมปทานฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2572 ณ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 สําหรับสายสีชมพูส่วนต่อขยาย (ไปเมืองทองธานี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ส่วน BTSGIF คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จํานวนผู้โดยสารจะกลับไปที่ระดับก่อนช่วงโควิด-19 ปัจจุบันอยู่ที่ราว 80% ของระดับก่อนโควิด-19 แล้ว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวโน้มกําไรของบริษัทดูไม่น่าตื่นเต้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จึงไม่เห็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น แต่การขยายระบบขนส่งมวลชนทั่วกรุงเทพฯ ในอีกหลายปีข้างหน้า จะเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตในระยะยาวให้กับ BTS เรายังคงคําแนะนํา “ถือ”.
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้