รายย่อย ร้อง รมว.ยุติธรรม หลังถูกตัดสิทธิรับชดเชย ความเสียหาย ทุจริต หุ้น STARK

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รายย่อย ร้อง รมว.ยุติธรรม หลังถูกตัดสิทธิรับชดเชย ความเสียหาย ทุจริต หุ้น STARK

Date Time: 3 เม.ย. 2567 12:58 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Latest


นักลงทุนตัวแทนผู้เสียหายหุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รุดพบรัฐมนตรียุติธรรม วอนคืนความเป็นธรรมหลังถูกตัดสิทธิไม่ได้รับชดเชยความเสียหายจากการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิด อ้างการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเกิดความเสียหายก็รับกันไปเอง ชี้รายย่อย 2 หมื่นราย มูลค่าความเสียหาย 7 หมื่นล้านกลายเป็นศูนย์ ไม่ใช่ความเสี่ยงปกติ แต่เกิดจากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จลวงแมงเม่าลงทุนและฉ้อโกงประชาชน


เมื่อวันจันทร์นี้ (2 เมษายน) ตัวแทนของกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกเป็นเหยื่อเสียหายจากหุ้น STARK มูลค่าความเสียหายรวมกันมากกว่า 73,000 ล้านบาท ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องอำนวยความยุติธรรมคืนให้กับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยต้องนับเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ์โดยจ่ายชดใช้สินไหมทดแทน จะยกเหตุอ้างว่า "การลงทุนในตลาดหุ้นย่อมมีความเสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายมาก็ต้องยอมรับ" ย่อมไม่ได้เพราะกรณีนี้ไม่ใช่การลงทุน และความเสี่ยงตามปกติธุรกิจ แต่เกิดจากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงผู้ลงทุน และทุจริตฉ้อโกงประชาชนอย่างผิดกฎหมาย


นายประเสริฐ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้แทนของกลุ่มผู้ลงทุนที่เสียหายร้องเรียนต่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า ครอบครัวของเขาเสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK จำนวน 140 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ อีกราว 20,000 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเคยสูงถึงราว 73,000 ล้านบาทแต่ปัจจุบันมูลค่าเหลือ 0


เมื่อมีการดำเนินคดีต่อ STARK และผู้บริหาร ตอนแรกก็ดูจะได้รับความเป็นธรรม เพราะสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งว่าได้อายัดทรัพย์จากผู้กระทำผิดเบื้องต้นราว 3,000 ล้านบาท มาชดเชยให้กับผู้เสียหาย แจ้งให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้น STARK ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองสิทธิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 20 พฤษศจิกายน 2566 (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/12935.pdf) โดยให้แจ้งบัญชีซื้อขายหุ้น และมูลค่าการซื้อขาย หลักฐานการซื้อขายหุ้นมายัง ปปง.ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 แต่แล้วในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกรมสอบสวนพิเศษ (DSI) มีหนังสือแจ้งมายังผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่า บริษัท STARK กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ลงทุนหุ้นสามัญ STARK จึงไม่สามารถระบุความเสียหายทางอาญาได้


นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่ DSI แต่ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ปปง. และกรมบังคับคดี ต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นว่า ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นนั้นย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า "การลงทุนในหลักทรัพย์ย่อมมีความเสี่ยง" เมื่อเกิดผลเสียหายอันเกิดจากการลงทุนก็ย่อมต้องยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK ไม่ได้เห็นเช่นนั้น เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้


1. กรณี STARK ไม่ได้เป็นการลงทุนและความเสี่ยงตามปกติในตลาดหลักทรัพย์ แต่ผู้บริหารบริษัทได้ยอมรับในภายหลังว่าเกิดจากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด จากผลการดำเนินงานจริงขาดทุนมหาศาล แต่แจ้งเท็จว่ามีผลกำไรมหาศาล ทำให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หลงเชื่อเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน


2. ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ได้กระจายขายหุ้นที่เคยถืออยู่มากกว่า 95% ออกมายังผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และรายใหญ่ จากนั้นก็แจ้งผลการดำเนินงานอันเป็นเท็จ และผู้บริหารให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นต่อจากผู้ลงทุนสถาบัน และรายใหญ่ที่จำหน่ายกันมาเป็นทอดๆ ผลประโยชน์ก็ย่อมไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ที่เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นผู้ลงทุนรายย่อยย่อมถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง


3. ต่อมา STARK ได้จำหน่ายขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ลงทุนประเภทสถาบันจำนวน 1,500 ล้านหุ้น หุ้นละ 3.72 บาท รวม 5,580 ล้านบาท อ้างว่าจะนำไปซื้อกิจการในประเทศเยอรมนีเพื่อขยายการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนประเภทสถาบันก็นำหุ้นที่ได้มา ขายในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยเป็นทอดๆ ก็ย่อมนับได้ว่าผู้ลงทุนรายย่อยคือผู้เสียหายโดยตรงในความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน 


การที่ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง และได้ปฏิเสธที่จะชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อย ทั้งที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงประชาชนดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดทุนไทย จะเห็นได้ว่าหลังกรณีนี้ มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้หดตัวลงอย่างหนัก นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศพากันหยุดหรือชะลอการลงทุน และตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในโลก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเสียหายไปมากกว่า 4 ล้านล้านบาท จึงขอวิงวอนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้โปรดอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนไทยโดยเร็ว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ