เป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาก สำหรับ “หุ้นร้อนแรง” หรือหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น โดยนักลงทุนอาจเข้าซื้อ เพราะคาดหวังการเติบโตของผลประกอบการ หรือเข้าเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น แต่เราจะสามารถแยก “หุ้นร้อนแรง” ออกจาก “หุ้นเติบโต” ได้อย่างไร วันนี้ “Thairath Money” จะพาทุกคนไปหาคำตอบ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับมือกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดงาน SET-IAA Hot Issue ในหัวข้อ “ไขปริศนาราคาหุ้นร้อนแรงจะมีการประเมินมูลค่าอย่างไรดี” โดยแนะนำวิธีสังเกตวัฏจักรราคาหุ้น การประเมินมูลค่าหุ้น และสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นที่ลงทุนอยู่นั้น “หมดรอบ” แล้วหรือไม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุน และนำไปปรับใช้กับการลงทุนของตัวเอง ให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงนั้น สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงปลายรอบของการเก็งกำไร
ทั้งนี้ จากข้อมูลยังไม่พบว่ามีหุ้นตัวใดที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากการเก็งกำไรแล้วไม่ปรับตัวลดลงเลย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ก็ตาม โดยสามารถแบ่งวัฏจักรของราคาหุ้นได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่
Stealth phase - เป็นช่วงแรกของวัฏจักร ราคาหุ้นมักเคลื่อนไหวออกข้าง หรือ Sideway เป็นส่วนใหญ่ เป็นช่วงที่นักลงทุน Smart Money เริ่มเข้ามาลงทุน และนักลงทุนรายย่อยมักไม่สนใจระยะนี้
Awareness phase - ราคาหุ้นเริ่มสร้างจุดสูงสุดใหม่ และปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นักลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน ได้รับสัญญาณการซื้อจากข่าวในแง่ดี เช่น ผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนโครงการใหม่ มีพาร์ตเนอร์ระดับโลก หรือมีนักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจ ขณะที่นักลงทุนทางเทคนิค อาจใช้กลยุทธ์การเข้าซื้อตามแนวโน้มราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
Mania phase - ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ มีโมเมนตัมการซื้อชะลอตัว นักลงทุนปัจจัยพื้นฐานมักหลีกเลี่ยงการเพิ่มสถานะการลงทุน พร้อมกับการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่ต่ำกว่าคาด
Blow off phase - เป็นช่วงสุดท้ายของวัฏจักรราคาหุ้น โดยราคาหุ้นเริ่มสร้างจุดต่ำสุดที่ต่ำกว่าเดิม เกิดแรงเทขายต่อเนื่อง และราคาหุ้นจะลดลงจนสะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น
สุนทร ทองทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า วิธีการสังเกตว่าหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นเติบโต หรือเป็นหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นผิดปกติ และอาจหมดรอบในระยะสั้น-ระยะยาว มักมีสัญญาณความผิดปกติ 8 ข้อ ดังนี้
ด้าน สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า สัญญาณความผิดปกติที่อาจบอกว่าหุ้นกำลังจะหมดรอบ อาจสังเกตได้จาก ราคาหุ้นขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยที่ไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการทําธุรกิจที่สมเหตุสมผล หรือราคาหุ้นสวนทางกับเทรนด์ และวัฏจักรอุตสาหกรรม รวมถึงสวนทางกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างมีนัยสําคัญ
ขณะเดียวกัน มักมีการลงทุนหรือออกข่าวจะทําธุรกิจใหม่ตามกระแส โดยที่บริษัทไม่มีความสามารถหรือไม่เคยทํามาก่อน หรือแนวโน้มรายได้มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง และเริ่มออกมาผิดคาด ผู้บริหารเริ่มไม่ให้แนวโน้มหรือ Guidance และมีการขายหุ้นออกมาในปริมาณสูง
พร้อมกันนี้ อาจสังเกตจากช่วงที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงปริมาณการซื้อขายเบาบาง หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือมี Forward P/E เกิน 40-50 เท่า และดัชนีกำลังสัมพัทธ์ (Relative Strength Index : RSI) เข้าสู่ภาวะ Overbought
สุนทร ทองทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นร้อนแรง อาจใช้เครื่องมือวัดมูลค่า Valuation metrics จากการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยพิจารณาว่าบริษัทมีการประเมินมูลค่าเหมาะสมตรงไหน แล้วก็เอาข้อมูลที่รายงานในงบการเงิน มาประเมินว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้นอยู่ตรงไหนของ Valuation metrics
ขณะเดียวกัน หากเป็นหุ้นไอพีโอ (IPO) ให้เอากรอบตัวชี้วัดมูลค่าต่างๆ เช่น P/E (ราคาหุ้นต่อกำไร), P/B (ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี) และ EV/EBITDA (มูลค่ากิจการเทียบกับกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย) มาเป็นตัวกําหนดกรอบอย่างง่าย เพราะการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงกว่ากลุ่มนั่นหมายถึงความน่าสนใจจะลดลง
ทั้งนี้ หากบริษัทเป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูง ให้ใช้ PEG เป็นตัวกําหนด (อัตราส่วนระหว่าง P/E เทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิ) หาก PEG มากกว่า 1 เท่า จะบ่งชี้ว่าหุ้นแพงเกินไป
อย่างไรก็ดี การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย Discounted Cash Flow (DCF) และ Dividend Discount Model (DDM) เพื่อหาความถูกแพงของกิจการ ยังมีความจําเป็น สําหรับนักลงทุนที่มั่นใจในแนวโน้มบริษัทว่ามีความน่าสนใจสูง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงพื้นฐาน
สิทธิชัย กล่าวอีกว่า วิธีการเบื้องต้นในการประเมินมูลค่าของหุ้นร้อนแรง ทำได้จากการคำนวณ Discount Cash Flow หรือประเมินกระแสเงินสดอิสระจากโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วคิดลดกลับมาเป็นราคาเหมาะสม (Fair value)
ขณะเดียวกัน การคำนวณราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) ทําได้โดยประเมินกําไรที่จะเกิดขึ้นจริง หากบริษัทสามารถทําได้ตามที่คาดหวัง แล้วหาตัวคูณที่เหมาะสม เช่น อาจใช้ P/E ที่อิงจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า, ใช้ P/E ของอุตสาหกรรม หรือคำนวณ P/E โดยอิงจากทฤษฎี Gordon Growth Model เป็นต้น ขณะที่ การประเมินทิศทางการปรับขึ้นของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้สังเกตได้
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้