ยังมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องสำหรับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ CPF ที่รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 ขาดทุนกว่า 5.2 พันล้านบาท จากแรงกกดันในหมูเถื่อนที่เข้ามากระทบ และในขณะเดียวกันราคาหมูปรับตัวลดลง สวนทางต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น พร้อมประกาศงดจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 แม้จะดูฟื้นตัว แต่จะพลิกกลับมาอ่อนตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ จากราคาหมูทั้งไทยและจีนที่ยังลดลง
นางกอบบุญ ศรีชัย เลขานุการบริษัท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยผลการดําเนินงานประจําปี 2566 ว่า รายได้จากการขายจํานวน 585,844 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นส่วนของกิจการต่างประเทศ 62% และ กิจการประเทศไทย 32% และกิจการส่งออกจากประเทศไทย 6%
ทั้งนี้รายได้ของบริษัทในปี 2566 ปรับลดลง 28,353 ล้านบาท หรือ ลดลง 4.6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลหลักมาจากราคาสุกรที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2565 และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่นํามาใช้ในการแปลงค่างบการเงินของบริษัทย่อยต่างประเทศ
โดยกําไรขั้นต้นปี 2566 อยู่ที่ 61,201 ล้านบาท ลดลง 25% จากปีก่อน (อัตรากําไรขั้นต้นในปี 2566 ร้อยละ 10.4 ลดลงจากร้อยละ 13.3 ของปี 2565) ด้วยปัจจัยหลักดังนี้
2.1 ราคาสุกรที่ปรับลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 15% จากปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของราคาในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะราคาในประเทศไทยที่ลดลงจากปี ก่อนประมาณ 31% จากการลักลอบนําเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ (ผิดกฎหมาย) จึงทําให้ราคาขายสุกรภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง
2.2 ต้นทุนการผลิต อันรวมถึงราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูงขึ้น 2.3 ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีผลกระทบทําให้กําลังซื้อในประเทศต่างๆ ไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
2.3 ค่าใช้จ่ายต้นทุนทางการเงินในปี 2566 จํานวน 25,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิในส่วนของบริษัทจํานวน 5,207 ล้านบาท ลดลง 137% เมื่อเทียบจากปี 2565
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของ CPF ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 121 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 1.8 พันล้านบาท ใน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ดีกว่าประมาณการของเราที่คาดว่าจะขาดทุนสุทธิถึง 1.47 พันล้านบาท และดีกว่า consensus ที่คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 572 ล้านบาท เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทในเครือ (CTI) ดีกว่าที่คาดไว้ แต่หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจ ผลขาดทุนปกติจะอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ CPF ขาดทุนสุทธิ 5.2 พันล้านบาท ลดลง 137% จากปีก่อน และขาดทุนปกติ 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 208% จากปีก่อนในปี 2566
ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำถือ CPF และประเมินราคาเป้าหมาย SoTP ปี 2567 ที่ 19.60 บาท (จากธุรกิจค้าปลีก 17.90 บาท และธุรกิจการเกษตร 2.00 บาท) โดยเราคาดว่าผลประกอบการจะยังคงอ่อนแอในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เพราะราคาหมูที่ตกต่ำในประเทศไทย และจีน.