50 หุ้น เข้าข่ายถูกขึ้นเครื่องหมาย C มาตรการเตือนผู้ลงทุนตัวใหม่ เริ่มใช้ 25 มี.ค.นี้

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

50 หุ้น เข้าข่ายถูกขึ้นเครื่องหมาย C มาตรการเตือนผู้ลงทุนตัวใหม่ เริ่มใช้ 25 มี.ค.นี้

Date Time: 20 ก.พ. 2567 15:09 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ จับตา 50 หุ้น เข้าข่ายถูกขึ้นเครื่องหมาย C มาตรการเตือนผู้ลงทุนตัวใหม่ เริ่มใช้ 25 มี.ค.นี้

Latest


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ปรับปรุงการพิจารณาคุณสมบัติรับบริษัทเข้าจดทะเบียน ทั้งการ Backdoor Listing และ Resume Trading ให้เทียบเท่าการเข้าจดทะเบียนใหม่ โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป


พร้อมทั้งการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และมีเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้ลงทุนว่าบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป


ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย CB, CS, CC,CF และ NP แทนการขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) เดิม โดยหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมายดังกล่าว จะให้มีการซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลภายใน 15 วัน ถึงเหตุและวิธีแก้ไขเหตุนั้น โดยจะทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป


ปัจจุบันมีหลักทรัพย์ตามมาตรการกำกับการซื้อขายที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C มีอยู่ 19 บริษัท ซึ่งหากมีการบังคับใช้เหตุการขึ้นเครื่องหมายเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีบริษัทที่เข้าข่ายการขึ้นเครื่องหมายเพิ่มอีก 50 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นเหตุจากด้านฐานะการเงิน (CB) แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณารายบริษัทว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามมองถึงหลักการในการยกระดับมาตรการเตือนให้แก่นักลงทุน เพื่อให้ทราบว่าหากต้องการซื้อขายหลักทรัพย์เหล่านี้ มีจุดใดบ้างที่ต้องพิจารณาในการเข้าลงทุน


เครื่องหมายใหม่..แยกประเภทตามเหตุ


โดยการเตือนผู้ลงทุนจะแสดงด้วยเครื่องหมายที่แตกต่างกันตามแต่ละเหตุ ดังนี้


เครื่องหมาย CB - กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่อง หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้


เครื่องหมาย CS - กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน หรือถูก ก.ล.ต. สั่งแก้งบ หรือทำ Special Audit


เครื่องหมาย CC - กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company หรือมีคณะกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน


เครื่องหมาย CF - กรณีบริษัทจดทะเบียนมี Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์


เครื่องหมาย NP - กรณีบริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการ Backdoor Listing หรือไม่จัด Opportunity Day ภายใน 1 ปี หลังเข้าจดทะเบียนตามที่กำหนด


นอกจากนี้ ยังเพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน


คุมเข้มบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ - Backdoor Listing


นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai โดยเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้


ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน


ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง กล่าวอีกว่า มาตรการที่ยกระดับขึ้นมานั้น มองว่าถึงจุดที่ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น ในส่วนการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนในการเพิ่มความเชื่อมั่น และเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนมากขึ้น


หุ้นไอพีโอผันผวน ยันมีกระบวนการตรวจสอบ


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาของหุ้นไอพีโอในตลาดรองปรับตัวลดลงอย่างมาก กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนเกี่ยวกับการตั้งราคาที่สูงเกินไปหรือไม่ และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการปรับเกณฑ์เพิ่มเติมหรือไม่นั้น ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ในการตั้งราคาเสนอขายไอพีโอ ซึ่งในส่วนของการตั้งราคาเสนอขาย เป็นเรื่องที่ผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และบริษัท เมื่อนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง มองว่าต้องไปดูที่สภาพการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา ณ เวลานั้น


แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการสร้างราคาจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือการกระทำที่ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นหรือต่ำลงผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีกระบวนการในการตรวจสอบ ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบนั้นอาจไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่จะมีการแจ้งเตือนไปยังนักลงทุนหากพบการซื้อขายที่ผิดปกติ ซึ่งจะเห็นได้จากหุ้นไอพีโอในช่วงปีที่ผ่านมา


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์