PTTGC ประกาศแผนฝ่ามรสุมปี 67 คาดธุรกิจปิโตรเคมีฟื้น หนุนปริมาณขายโต 7-10%

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

PTTGC ประกาศแผนฝ่ามรสุมปี 67 คาดธุรกิจปิโตรเคมีฟื้น หนุนปริมาณขายโต 7-10%

Date Time: 17 ก.พ. 2567 07:00 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • PTTGC ประกาศทิศทางการดำเนินงานปี 2567 พร้อมเปิด 3 กลยุทธ์สำคัญเติบโต คาดธุรกิจปิโตรเคมีฟื้น หนุนปริมาณขายโต 7-10%

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในช่วงที่ผ่านมา มีความท้าทายจากอุปทานส่วนเพิ่มที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในตลาด  โดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่อย่างจีน ที่หันมาเป็นผู้ผลิตมากขึ้น เป็นที่น่าจับตาว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PTTGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของประเทศไทย จะมีทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้อย่างไร


ล่าสุด PTTGC ประกาศทิศทางการดำเนินงานปี 2567 พร้อมเปิด 3 กลยุทธ์สำคัญในการทำให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้า พร้อมปรับให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจที่เน้นตลาดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง


ธุรกิจปิโตรเคมีฟื้น หนุนปริมาณขายโต 7-10%


ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PTTGC เปิดเผยว่า สำหรับปี 2567 นี้คาดว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะฟื้นตัวได้จากปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มโพลีเอทิลีน หลังจากปีนี้มีการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น จากมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในโรงงานน้อยลง โดยคาดว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2-3 หนุนปริมาณการขายในปีนี้เติบโตจากปีก่อนที่ระดับ 7-10%


ขณะเดียวกัน ธุรกิจผลิตภัณฑ์เรซินชนิดพิเศษ เพื่อใช้ในการผลิตสารเคลือบอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัท Allnex Holding GmbH (Allnex) คาดว่าปริมาณการขายจะเติบโตได้ดีที่ระดับ 10% ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนปี 2567 ไว้ที่ราว 100-150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,600-5,400 พันล้านบาท) เพื่อเดินหน้าลงทุนในโครงงาน ‘นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์’ ต่อเนื่อง และขยายธุรกิจพีวีซีใน บมจ.เอจีซี วีนิไทย พร้อมมีแผนลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจ Allnex เพื่อให้มีกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น


เปิด 3 กลยุทธ์ฝ่าความท้าทาย


อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยภายนอกทั้งจากเมกะเทรนด์ต่างๆ Industry Landscape รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจ จึงทำให้การดำเนินงานในปี 2567 ยังคงมีความท้าทาย GC จึงกำหนดทิศทางและทบทวนกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย Step Change, Step Out, Step Up ที่ดำเนินมาอย่างถูกทางแล้วให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และปรับให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

Step Change: สร้างรากฐานแข็งแกร่ง ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการพัฒนาความร่วมมือในมิติต่างๆ รวมถึงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจที่เน้นตลาด (Market-Focused Business) โดยการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products: HVP) มีเป้าหมาย 56% ในปี 2571 และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม


Step Out: แสวงหาโอกาสใหม่เพื่อสร้างการเติบโต และดูแลด้านต้นทุนของ allnex พร้อมขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเเละผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Bio & Circularity) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล รวมถึง Bio-Refinery โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆ ได้มากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคล อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ฯลฯ 


Step Up: สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยดำเนินงานด้าน Decarbonization ให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 รวมถึงมุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง


พร้อมกันนี้ GC ยังวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และ Non-Core Business นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่เกี่ยวกับไฮโดรเจนและคาร์บอน โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่ GC มีในธุรกิจไฮโดรคาร์บอน สร้างความแตกต่างและผลตอบแทนทางธุรกิจในอนาคต มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ได้วางไว้ โดยที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีระหว่าง GC กับ บริษัท มิตซูบิชิ ฮีวี่ อินดัสทรี เอเชียแปซิฟิก จำกัด หรือ MHI-AP โดยมี 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. ศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันแก๊ส (Gas Turbine) และเทคโนโลยีการดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  2. ศึกษาหาแนวทางการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในระบบดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตไฮโดรเจน หรือ Steam Methane Reforming (SMR)

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ