คุณพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สัมภาษณ์ วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เปิดเผยว่า กำลังทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนมากขึ้นเพื่อยกระดับการดูแลตราสารหนี้ให้เข้มงวดขึ้น ทั้งหลักเกณฑ์การออกตราสารหนี้และการเสนอขายตราสารหนี้ การเปิดเผยข้อมูล เช่น การกำหนดให้เสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ต้องมีงบการเงินมาตรฐานเทียบเท่างบการเงินของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะ “บริษัทโฮลดิ้ง” และการเสนอขายหุ้นกู้แก่บุคคลทั่วไป
ก.ล.ต. เริ่มปรับปรุงกฎเกณฑ์การขายหุ้นกู้หลังจากที่เกิดกรณีการโกงผู้ถือหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นใน บมจ. Stark ที่สร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาทและมีผู้เสียหายเกือบสองหมื่นราย
ตลาดหุ้นกู้ไทยเป็นตลาดที่ใหญ่มาก คุณสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการสมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า สิ้นปี 2566 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างอยู่ในตลาดสูงถึง 16.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 95% ของจีดีพีประเทศไทย ขณะที่มาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท คิดเป็น 98% ของจีดีพีประเทศไทย มูลค่าตราสารหนี้เล็กกว่าตลาดหุ้นเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง
การที่ ก.ล.ต. จะหันมา คุมเข้มการออกหุ้นกู้ ของบริษัทต่างๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดหุ้นและนอกตลาดหุ้นให้มีความเข้มข้นขึ้น ผมจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
คุณพรอนงค์ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า กฎเกณฑ์ที่จะปรับปรุง จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทันท่วงที เช่น เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลในอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) ที่สำคัญของผู้ออกหุ้นกู้ เช่น อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร อัตราส่วนกระแสเงินสด การเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลในการขายไฮยีลด์บอนด์ เช่น กำหนดชื่อหรือสัญลักษณ์พิเศษเพื่อเตือนนักลงทุนให้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการแก้กฎหมายกำกับดูแลผู้แทน ผู้ถือหุ้นกู้ รวมทั้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามและการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ผมเห็นว่า การยกระดับคุมการออกหุ้นกู้ของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ เป็นการ “ปิดจุดอ่อน” ของหุ้นกู้ที่ออกกันเกลื่อนตลาดอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อบริษัทที่ออกหุ้นกู้ธุรกิจไม่ดี เบี้ยวหนี้หุ้นกู้ขึ้นมา หรือมีเจตนาเบี้ยวหนี้ ผู้ลงทุนก็ถูกลอยแพ ไม่มีใครมาร่วมรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น ผู้ขายหุ้นกู้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทจัดอันดับความเชื่อถือ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทเหล่านี้ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้จัดเรตติ้งอันดับความเชื่อถือ และเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจลงทุน
ล่าสุด ก.ล.ต. ร่วมกับ สมาคมตราสารหนี้ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น ตัวอย่างสัญญาการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทั้งปวงของผู้ถือหุ้นกู้ให้มีความเข้มงวดขึ้น เช่น ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนรวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย
มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากเสนอ ท่านเลขาธิการ ก.ล.ต.ไว้ตรงนี้ ซึ่งมีบางบริษัทได้ทำแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้นกู้ก็คือ การรายงานผลประกอบการของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นกู้ทราบทุกไตรมาส เช่นเดียวกับที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นงบฉบับย่อที่ง่ายต่อการเข้าใจ เช่น มีรายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ มีเงินสดเท่าไหร่ มีหนี้เท่าไหร่ เป็นต้น ผู้ถือหุ้นกู้เห็นแล้วจะได้สบายใจ การออกหุ้นกู้ใหม่ก็จะทำได้ง่ายขึ้น.
“ลม เปลี่ยนทิศ”