กนง.เสียงแตก ดันหุ้นไทยทะลุ 1,400 จุด ดอกเบี้ยพ้นจุดสูงสุด จับตาเงินต่างชาติระยะสั้น “สะดุด”

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กนง.เสียงแตก ดันหุ้นไทยทะลุ 1,400 จุด ดอกเบี้ยพ้นจุดสูงสุด จับตาเงินต่างชาติระยะสั้น “สะดุด”

Date Time: 7 ก.พ. 2567 17:17 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี ขณะที่หุ้นไทยปิดตลาดเพิ่มขึ้น 3.06 จุด หรือ +0.22% มาอยู่ที่ 1,400.02 จุด ด้านนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4 วันติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 คิดเป็นมูลค่าซื้อสุทธิรวม 7,951.14 ล้านบาท

Latest


ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี


ขณะเดียวกัน ข้อมูลรายงานการซื้อขายแยกตามกลุ่มผู้ลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่านักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4 วันติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 คิดเป็นมูลค่าซื้อสุทธิรวม 7,951.14 ล้านบาท หลังจากที่มีการขายสุทธิเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่ต้นปี 2567


ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น (วันที่ 1-6 ก.พ.) นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,082.65 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,644.86 ล้านบาท และนักลงทุนภายในประเทศขายสุทธิ 4,223.63 ล้านบาท


ส่วนความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (7 ก.พ.) ปิดตลาดหุ้นช่วงบ่าย ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.06 จุด หรือ +0.22% จากวันก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1,400.02 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายราว 4.55 หมื่นล้านบาท


ดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุด


วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า มีมุมมองเป็นกลางกับตลาดหุ้นไทยหลังเสร็จสิ้นผลประชุม กนง. เพราะนักลงทุนได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะคงดอกเบี้ย ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยทั้งปี 2567 คาดว่าอาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยบ้าง แต่เชื่อว่าทาง กนง. จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยในอัตราส่วนที่มาก เพราะปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาที่มาจากเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะจากภาคส่งออก สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลก (Global PMI) ที่เริ่มขยายตัว แต่สวนทางกับส่งออกไทยที่กลับขยายตัวต่ำกว่า ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมามักมีทิศทางไปด้วยกัน


ขณะที่การส่งออกของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน กลับขยายตัวสูงกว่าไทย สะท้อนถึงสินค้าส่งออกของไทยที่ตลาดโลกมีความต้องการน้อยลง ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ในแง่ของการใช้จ่ายยังต่ำกว่า สอดคล้องกับจำนวนใช้จ่ายต่อทริปที่ลดลง รวมไปถึงวันพักเฉลี่ยก็ลดลงเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี แรงหนุนหลักจากภาคบริการ (ร้านอาหาร, โรงแรม) ซึ่งตลาดแรงงานภายในประเทศก็เห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องพร้อมกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดังนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยปัจจุบันจึงมิได้มาจากนโยบายการเงิน การปรับลดดอกเบี้ยจึงไม่มีส่วนช่วยมากนัก อนึ่งดอกเบี้ยนโยบายไทยก็อยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (สหรัฐฯ 5.5%, ไทย 2.5%) 


ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มกระแสเงินลงทุนต่างชาติ อาจสะดุดบ้างระยะสั้น เพราะที่ประชุม กนง. มี 2 เสียงสนับสนุนปรับลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความเป็นไปได้จะเผชิญกับจุดสูงสุดตามแนวโน้มดอกเบี้ย จึงเป็นปัจจัยช่วยให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า และปัจจุบันประเทศไทยก็เกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะเป็นอีกปัจจัยช่วยสนับสนุนค่าเงินบาท


ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เพราะนักลงทุนมองบวกกับการท่องเที่ยวที่เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น จึงเชื่อว่ามีแนวโน้มที่กระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าต่อเนื่อง แต่อาจมีสลับขายบ้างบางวัน กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำหุ้นได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย สนามบิน (AOT) โรงแรม (CENTEL MINT) ค้าปลีก (BJC CPALL) และกลุ่มการเงิน (SAWAD MTC TIDLOR) ปัจจัยบวกดอกเบี้ยไทยผ่านจุดสูงสุด


ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กนง. มีมติคงดอกเบี้ยตามคาด โดยมีสัญญาณเปิดโอกาสการเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงในช่วงถัดไป กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.5% โดยมี 2 เสียง มองว่าควรปรับลดดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือช่วง 2.5-3.0% จากประมาณการเดิม 3.2-3.8% ตามลำดับ เป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวปลายปีที่ผ่านมา ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 จากเดิม 2.0-2.2% ลดลงเหลือต่ำใกล้เคียงระดับ 1%


ทั้งนี้ คาดตลาดหุ้นน่าจะตอบรับเชิงบวกเล็กๆ บน 1) เสียงคงดอกเบี้ยที่ไม่เอกฉันท์ และ 2) ประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาไม่ได้เหนือความคาดหมาย (เทียบกับ สศค. ที่คาดเศรษฐกิจไทยโต 1.8% และ 2.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ) และน่าจะเป็นการปรับมุมมองตอกย้ำภาพเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาดระลอกสุดท้าย ก่อนที่จะถึงวันรายงานตัวเลขจริง วันที่ 19 ก.พ. ซึ่งตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตอบรับไปแล้วพอสมควรในช่วงก่อนหน้า


ส่อง 4 ปัจจัยหนุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อ


ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้มีโอกาสเข้าสู่ขาลง และโครงการ Digital wallet ที่มีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ คาดหนุนให้ประเทศไทยดูดีในสายตาต่างชาติ และมีโอกาสให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยระยะถัดไป หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถ outperform ตลาดหุ้นอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่ามี 4 เรื่อง สนับสนุนให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อ ได้แก่


1. แรงขายหุ้นไทยจากต่างชาติเริ่มจำกัดมากขึ้น คือ ต่างชาติเคยซื้อสุทธิหุ้นไทยในปี 2566 กว่า 2 แสนล้านบาท แต่เริ่มมีการขายสุทธิออกมาจนเกือบหมดในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 66 จากความกังวลเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ช้ากว่าที่คาดมาก แต่ด้วยมูลค่าที่ต่างชาติซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปี 2566 ถูกขายจนเกลี้ยงพอดี น่าจะช่วยหนุนให้แรงขายต่อจากนี้จำกัดมากขึ้น


2. ยังมีช่องว่างให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้าต่อ คือ จุดที่ต่างชาติเริ่มกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง คือ 5 ม.ค. 67-31 ม.ค. 67 ต่างชาติขาย -3.2 หมื่นล้านบาท เป็นช่วงที่เริ่มเห็นนโยบายการเงินและการคลังไม่สอดคล้องกันพอดี แต่ถ้าแนวทางนโยบายการเงินการคลังเริ่มไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่ากระแสเงินลงทุนยังมีช่องว่างให้ไหลกลับมาอยู่


3. แรงซื้อของต่างชาติในเดือน ก.พ. 67 โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม TIP โดยเดือน ก.พ. 67 ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 224 ล้านเหรียญ จากต้นเดือน สูงสุดในกลุ่ม TIP (ไทย-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์) โดยอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 166 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ และเป็นการกลับมาซื้อสุทธิเดือนแรกในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 


4. ปริมาณการ Short Sell หุ้นไทยในเดือน ก.พ. 67 จากต้นเดือน ลดน้อยลงจากเดือน ม.ค. 67 โดยเดือน ม.ค. 67 ต่างชาติ Short Sell หุ้นไทยด้วยสัดส่วน 12% ของมูลค่าซื้อขายรวม แต่เดือน ก.พ. 67 มูลค่า Short Sell ลดเหลือเพียง 8.9% ดังนั้นประเมินว่าแรงกดดันจากการ Short Sell ของต่างชาติมีโอกาสลดน้อยลง เป็นตัวช่วยหนุนให้หุ้นที่ย่อตัวลงมาลึกมีโอกาสย่อตัวได้ช้าลง หรืออาจจะรีบาวน์กลับขึ้นมาจากการถูก Cover Short ได้ 


ในความคาดหวังที่กระแสเงินลงทุนน่าจะเริ่มจำกัดการขาย และกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น กลยุทธ์แนะนำเก็งกำไรหุ้นพื้นฐานที่ต่างชาติซื้อสุทธิสะสมเด่นในช่วงเดือน ก.พ. อย่าง KTC, AOT, BCP, SCC, BDMS, HANA, SPRC, CPN, CPALL,SAWAD เป็นต้น พร้อมยังแนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่ถูก Short Sell ลดน้อยลงมาก อย่าง BDMS, DELTA, CPALL, PTTEP, SCC, KTB, KKP, IVL คาดหวังการรีบาวน์สั้นๆ จากการ Cover Short ได้

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์