การลงทุนแบบ DCA หรือการออมหุ้น เป็นกลยุทธ์ด้านการลงทุนที่ถูกพิสูจน์มาอย่างยาวนานแล้วว่าเป็นวิธีการลงทุนที่ง่ายและได้ผล จากเราเลือก DCA ในหุ้น หรือสินทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับการเติบโตในระยะยาว แต่ในเวลานี้กลยุทธ์ดังกล่าวกำลังถูกเมินเฉยจากคนรุ่นใหม่ เพราะความไม่หวือหวา และน่าเบื่อ ที่ต้องทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ และเลือกที่จะลงทุนด้วยการจับ “จังหวะลงทุน” เองมากกว่า
การลงทุนแบบ Dollar-Cost Averaging หรือ DCA เป็นกลยุทธ์การลงทุนยอดนิยมมายาวนาน วิธีการลงทุนแบบ DCA คือ การเฉลี่ยซื้อหุ้น, กองทุนรวม หรือสินทรัพย์ต่างๆ ด้วยจำนวนเงินเท่ากันในทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน เพื่อลงทุนระยะยาว ซึ่งกลยุทธ์นี้จะช่วยลดความผันผวนของราคาได้
เช่น หากเราตั้งเงื่อนไขการลงทุนด้วยเงิน 5,000 บาท ประจำทุกเดือนในหุ้น A โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นนั้นจะเป็นเท่าไร โดยในช่วงที่เราทำกลยุทธ์ DCA หากมีปัจจัยเข้ามากระทบภาพรวมของตลาดหุ้น เช่น เกิดแรงเทขายในหุ้นบางกลุ่ม หรือภาพรวมของตลาดผันผวน ทำให้ทิศทางของราคาหุ้น A ปรับตัวลดลง โดยพื้นฐานของหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงไป หรือได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่มีโอกาสฟื้นตัวในระยะยาว การ DCA จะช่วยสร้างโอกาสให้เราสามารถซื้อหุ้น A และได้รับจำนวนหุ้นที่มากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน หากภาพของตลาดกลับกลายเป็นขาขึ้น ราคาหุ้น A ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง การ DCA ด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม จะทำให้เราได้รับจำนวนหุ้นลดลง ซึ่งลดโอกาสการซื้อหุ้นที่ราคาอาจจะสูงเกินไปในระยะสั้น
โดยวิธีการ DCA นั้น หากเราซื้อหุ้น A ในระยะเวลาที่นานพอและก้าวผ่านความผันผวนในระยะสั้นในสินทรัพย์ หรือหุ้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เรามีต้นทุนต่ำลงในระยะยาว และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม ในการ DCA เป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้เวลาลงทุน อาจหลายเดือน หรือหลายปีกว่าจะเห็นผล ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มตีใจออกหากจากกลยุทธ์ดังกล่าวและเลือกที่จะซื้อหุ้นตามจังหวะการลงทุนแทน
เกษตร ชัยวันเพ็ญ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด สายการขายและการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดเผยกับ #ThairathMoney ว่า ทิศทางการลงทุนของคนรุ่นใหม่มีความสนใจลงทุนแบบ DCA ลดลง สะท้อนได้จากหลายโครงการที่ผ่านมา ที่เน้นการสร้างนิสัยการออมแบบสม่ำเสมอ หรือ DCA ไม่ได้รับความนิยม ซึ่งพวกเขาชื่นชอบการลงทุนแบบจับจังหวะมากกว่า
“คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจลงทุนแบบ DCA ลดลง โดยเห็นได้จากการเข้าร่วมโปรแกรมการลงทุนแบบสม่ำเสมอ โดยจากการสำรวจของ บลจ. เราพบว่าพวกเขานิยมซื้อขายหุ้น หรือกองทุนรวมด้วยตัวเอง ด้วยกลยุทธ์จับจังหวะลงทุน”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกใช้กลยุทธ์นี้ เพราะนักลงทุนรุ่นใหม่มักจะเริ่มการลงทุนด้วยสินทรัพยดิจิทัลเป็นอย่างแรก ง่ายและสะดวกสบาย และเข้าใจง่าย ทำให้เคยชินกับการซื้อขายด้วยตัวเอง และมองว่าการซื้อขายด้วยการจับจังหวะลงทุน จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
แต่ในความเป็นจริง การลงทุนหากเราเน้นการจับจังหวะลงทุน อาจจะไม่ใช่รูปแบบการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดี เพราะตลอดการลงทุนมักจะมีปัจจัยเข้ามากดดันเสมอ ซึ่งจะมีผลกับการตัดสินใจลงทุน หรือปรับพอร์ตลงทุน ต่างจากการเลือกลงทุนแบบ DCA ที่มีกำหนดกลยุทธ์แบบทยอยลงทุนสม่ำเสมอในหุ้น หรือกองทุนที่เลือกไว้แล้วประจำทุกเดือน จะช่วยลดความผันผวนระยะสั้น และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ บลจ.เองก็ต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการสร้างความสนใจลงทุนในลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่นอกจากการให้ความรู้ด้านการลงทุนแล้ว ยังต้องปรับรูปแบบให้เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่