ปิดเพจหลอกลงทุน 175 บัญชี ก.ล.ต. เตือน เช็กก่อนโดนหลอก ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคล

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปิดเพจหลอกลงทุน 175 บัญชี ก.ล.ต. เตือน เช็กก่อนโดนหลอก ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคล

Date Time: 12 ธ.ค. 2566 14:40 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ก.ล.ต. เปิดสถิติการแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี และปัจจุบันดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงดังกล่าวไปแล้ว 175 บัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ของจำนวนบัญชีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดสถิติการแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี และปัจจุบันดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงดังกล่าวไปแล้ว 175 บัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ของจำนวนบัญชีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด  


โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยสถิติการแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนในตลาดทุนผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร.1207 กด 22 ระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/scamalert และอีเมล scamalert@sec.or.th ภายใต้ “โครงการร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยประสานงานกับ Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้ง LINE (ประเทศไทย) ปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพบนแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น


ตั้งแต่โครงการ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เปิดตัวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสว่า มีสื่อหลอกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี แบ่งเป็นแพลตฟอร์ม Facebook 192 บัญชี Instagram 1 บัญชี และ LINE 9 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566) เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลแล้ว ได้ประสานแจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพิจารณาดำเนินการปิดกั้นบัญชีโดยเร็ว ภายใต้กรอบเวลาเฉลี่ยภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่ได้รับแจ้ง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการปิดไปแล้ว 175 บัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ส่วนที่เหลือเป็นการแจ้งเข้ามาใหม่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการปิด   


สำหรับการแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนผ่านสื่อสังคมออนไลน์พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแอบอ้างใช้ชื่อ โลโก้ และภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. หน่วยงาน และบริษัท รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในตลาดทุน การปลอมแปลงใบอนุญาต และอ้างว่ารับรองโดย ก.ล.ต. และหน่วยงานทางการ แอบอ้างใช้ชื่อ และภาพบุคคลกรในตลาดทุน รวมถึงการชักชวนลงทุนในหุ้นกองทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยข้อเสนอที่ให้ลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้ มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ 


นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังดำเนินการป้องปรามเรื่องหลอกลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้  

  1. ขึ้นเตือนบนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. 
  2. ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน 
  3. ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนเฉพาะกรณีที่แอบอ้างชื่อ/โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต.
  4. ดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง หรืออาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ 
  5. ดำเนินการส่งเรื่องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาดำเนินการกรณีชักชวนลงทุนใน Forex หรือการแจ้งเบาะแสการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ 
  6. ดำเนินการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. 


ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ด้วยการสอบถามโดยตรงกับบริษัทหรือบุคคลที่ถูกแอบอ้าง รวมทั้งไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือไม่โอนเงินเข้าชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา สำหรับการแจ้งเบาะแสให้ได้ผล ขอให้แจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด เช่น

  1. เรื่องหลอกลงทุนในตลาดทุน ติดต่อสายด่วน ก.ล.ต. โทร.1207 กด 22 
  2. เรื่องหลอกลวงออนไลน์เกี่ยวกับการฝาก ถอน ชำระเงิน บัตรเครดิต และสินเชื่อ ติดต่อสายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 
  3. เรื่องการเงินนอกระบบที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ติดต่อสายด่วน 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 
  4. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ การอายัดบัญชีปลายทางชั่วคราว (บัญชีม้า) ติดต่อสายด่วน 1441 ศูนย์ AOC เป็นต้น

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ