เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งสถานการณ์ความผันผวนของโลก และประเด็นความท้าทายด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ติดอันดับที่ 27 ของโลก และมีขนาดใหญ่ที่ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมูลค่าเสนอขายหุ้นไอพีโอสะสมสูงสุดในอาเซียน เช่นเดียวกับสภาพคล่อง
ด้วยปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว รัฐบาลมีแนวทางในการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความผันผวน อีกทั้งส่งเสริมโอกาสการเติบโต และศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทยในอนาคตต่อไป
แนวทางแรก รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น “Investment Destination” ของภูมิภาค นำมาซึ่งการลงทุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น การเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะเตรียมการนำเสนอข้อมูลของตลาดหุ้นไทย หรือโรดโชว์ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
แนวทางที่สอง รัฐบาลจะมุ่งเน้นสู่การพัฒนาความยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) โดยดำเนินการสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง และส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกในภาคธุรกิจ และมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเงินทุน เพื่อสามารถรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนรัฐบาลจะผลักดันการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) โดยตั้งเป้าออกตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป
แนวทางที่สาม สนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจเพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล และให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ และมีการเติบโตต่อไปในระดับโลกได้ ซึ่งรัฐบาลมีกลไกช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างครบวงจร
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโดยรวม โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งการยกระดับการลงทุน การให้บริการภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงรับนโยบายจากรัฐบาลดังกล่าวนี้ โดยยกระดับพร้อมปรับโครงสร้างองค์กร มีการเน้นยุทธศาสตร์และเพิ่มส่วนงานสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เห็นชอบการลดอุปสรรคของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความเหลื่อมล้ำทางภาษี จะส่งผลให้การแข่งขันมีความเท่าเทียมกัน ลดภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน อีกทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ Investment Token เพื่อให้สามารถระดมทุนพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ Thailand ESG Fund เนื่องด้วยภาคเอกชนและภาครัฐของไทยมีจุดเด่นในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนระดับสากลจำนวนมาก ภาครัฐจึงเห็นชอบการจัดตั้ง Thailand ESG Fund ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนและผู้มีเงินออมที่ได้ผลตอบแทนระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริม ESG ของประเทศด้วย
โดยข้อมูลเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุนจำนวน 16 ราย และมีกองทุนจำนวน 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย