เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 66 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP กล่าวว่า ผลประกอบการของ CKPower เป็นบวกทั้งในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนปี 2566 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก
แต่สถานการณ์ปริมาณน้ำมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ทำให้บริษัทสามารถปรับแผนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 โดยคาดว่าจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี
สำหรับผลการดำเนินงานของ CKPower ในไตรมาส 3/66 มีรายได้รวม 2,649 ล้านบาท ลดลง 846 ล้านบาท หรือลดลง 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 1,022 ล้านบาท ลดลง 440 ล้านบาท หรือลดลง 30.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่รายได้รวมงวด 9 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ 7,901 ล้านบาท ลดลง 796 ล้านบาท หรือลดลง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทสำหรับงวด 9 เดือน จำนวน 919 ล้านบาท ลดลง 1,445 ล้านบาท หรือลดลง 61.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด หรือ XPCL จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำ และค่าใช้จ่ายทางการเงินของ XPCL ที่สูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก
ขณะที่ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด หรือ NN2 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลงและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ซึ่งเป็นไปตามแผนการซ่อมบำรุง และบริษัท บางเขนชัย จำกัด หรือ BKC มีรายได้ลดลงจากการสิ้นสุดการได้รับ Adder
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปี 2566 CKPower พลิกรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนจำนวน 816 ล้านบาท และ 555 ล้านบาท จากที่รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปีนี้ ตามลำดับ
นอกจากนี้ XPCL ยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Debentures) ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ให้กับนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ รวมจำนวน 3,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15-5.55 ต่อปี
โดย XPCL นำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนและผลการดำเนินงานโดยรวมของ CKPower ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
สำหรับฐานะทางการเงินของ CKPower ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 0.59 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดของหุ้นกู้ที่ให้ดำรงอัตราส่วนดังกล่าวไม่ให้สูงเกิน 3.00 เท่าค่อนข้างมาก แสดงถึงฐานะทางการเงินที่มีความมั่นคง
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา CKPower ได้รับคะแนนกำกับดูแลกิจการ (CG Score) ในระดับ "ดีเลิศ" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2566 ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
พร้อมกันนี้บริษัทยังได้รับการประเมินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ที่ระดับ "AAA" ซึ่งเป็นเรตติ้งระดับสูงสุด นับเป็นการติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน 4 ปีติดต่อกัน สะท้อนภาพการทำงานและสอดรับกับวิสัยทัศน์ของ CKPower ในการมุ่งสร้าง พลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสะท้อนการบริหารจัดการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืนของบริษัทผ่านการนำกลยุทธ์ ซี เค พี หรือแผนการดำเนินงาน 5 ปี สู่ความยั่งยืน (พ.ศ. 2565-2569) ของบริษัทซึ่งครอบคลุมในทุกมิติของแนวคิด ESG โดยขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดที่สำคัญให้กับภูมิภาคในอนาคตต่อไปอย่างยั่งยืน