ปราบเพจหลอกลงทุน ก.ล.ต. เอาจริงจับมือ META-LINE ลุยปิดเพจ ไลน์ปลอม ใน 48 ชม.

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปราบเพจหลอกลงทุน ก.ล.ต. เอาจริงจับมือ META-LINE ลุยปิดเพจ ไลน์ปลอม ใน 48 ชม.

Date Time: 6 พ.ย. 2566 13:39 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร 1207 กด 22 ซึ่งเป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนได้โดยตรง พร้อมประสานความร่วมมือพันธมิตรในตลาดทุนร่วมแจ้งเบาะแส เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร 1207 กด 22 ซึ่งเป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนได้โดยตรง พร้อมประสานความร่วมมือพันธมิตรในตลาดทุนร่วมแจ้งเบาะแส เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน


เปิดสายด่วนแจ้งหลอกลงทุน


พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. เดินหน้าเชิงรุกด้วยการเปิดช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานพันธมิตรแจ้งเบาะแสโดยตรง โดย ก.ล.ต. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และจำกัดความเสียหายไม่ให้กระจายออกไปสู่วงกว้าง


ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้มีการประสานความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้งประสาน LINE (ประเทศไทย) เพื่อดำเนินการปิดกั้นบัญชีของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วที่สุด ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อลดความเสียหายจากการหลอกลงทุน ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับศูนย์ Anti Online Scam Operation Center (AOC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งดำเนินการปิดบัญชีม้าด้วย


สำหรับสถิติการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2566 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการป้องปรามอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ (1) ขึ้นเตือนบนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อ จำนวน 265 ราย (2) ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน จำนวน 90 กรณี (3) ด้านการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนที่แอบอ้างชื่อ/โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. มีจำนวน 10 กรณี (4) การดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง จำนวน 163 ราย และ (5) ดำเนินการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาดำเนินการ จำนวน 85 กรณี  


นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญเรื่องความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการเงินแก่ภาคประชาชน โดยมีแผนการเผยแพร่บทความต่างๆ ที่สามารถเข้าใจง่ายอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป


เร่งสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน


พรอนงค์ กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่มีการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น ได้มีการดำเนินการแบบบูรณาการ ซึ่งฐานความผิดต่างๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย โดยให้ความมั่นใจว่าจะเห็นความชัดเจนได้มากขึ้น


อย่างไรก็ตาม มองว่ากระบวนการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน จะเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารของสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น ให้ความมั่นใจว่า ก.ล.ต. ได้มีการใช้ข้อมูลติดตามเรื่องต่างๆ รวมถึงร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการติดตามสถานการณ์ของภาวะตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ