จับตาสงครามอิสราเอล อาจทำน้ำมันพุ่ง ถ้าขัดแย้งขยายวง แนะ เก็งกำไร “PTTEP-BCP”

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาสงครามอิสราเอล อาจทำน้ำมันพุ่ง ถ้าขัดแย้งขยายวง แนะ เก็งกำไร “PTTEP-BCP”

Date Time: 12 ต.ค. 2566 16:59 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • จับตาผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาส ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย กรณีเลวร้ายที่สุดหากขยายวงกว้าง ทําให้สหรัฐฯ กลับไปคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกครั้ง อาจทำราคาน้ำมันพุ่ง

Latest


เหตุการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส นับว่าสร้างความเสียหายอย่างหนัก จากมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งยังต้องติดตามต่อไปว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีการขยายวงกว้างหรือไม่


ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในระยะถัดไป ท่ามกลางความคาดหวังจากสัญญาณฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4/66 หลังจากช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกถูกกระทบอย่างหนัก จากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน


สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกมากนัก โดยระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกยังเคลื่อนไหวในแดนบวกได้ จากตลาดให้น้ำหนักกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มากกว่า ซึ่งคาดว่าจะมีการผ่อนคลายในการประชุมครั้งถัดไป


ขณะเดียวกัน มองว่าสงครามในอิสราเอลส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจํากัด เนื่องจากประเทศไทยมีการค้ากับประเทศอิสราเอล มูลค่า 856,84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเพียง 0.22% ของการค้าทั้งหมดของไทย หรือเป็นคู่ค้าอันดับ 40 ของไทย โดยสินค้าส่งออกจากไทยไปอิสราเอลมากสุด ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้านําเข้าสําคัญจาก อิสราเอล ได้แก่ เพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย เครื่องจักรไฟฟ้า


ทั้งนี้ ประเมินความเสี่ยงกรณีเลวร้ายที่สุด หากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น ซึ่งประเทศที่อาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย แม้สงครามครั้งนี้ ไม่น่าจะลุกลามรุนแรงจนกลายเป็นสงครามในภูมิภาค แต่ก็อาจทําให้ความเสี่ยงราคาน้ํามันสูงขึ้นได้ในระยะใกล้


โดยตั้งสมมุติฐานว่า อิหร่านมีส่วนจะทําให้เกิดความขัดแย้งครั้งนี้ ทําให้สหรัฐฯ กลับไปคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านอีกครั้ง ทําให้อิหร่านผลิตและส่งออกน้ํามันดิบลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทําให้ราคาน้ํามันปรับสูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากกรณีฐาน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/23 จนตลอดปี 2567 ซึ่งจะทําให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเล็กน้อย เงินเฟ้อสูงขึ้น และเฟดลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่ากรณีฐาน ส่วนเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ลดลง เงินเฟ้อสูงขึ้น และธนาคารกลางแห่งประเทศไทย จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นกว่ากรณีฐาน


นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเสี่ยงหากสถานการณ์ยืดเยื้อและขยายวงกว้าง จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมในไทย ดังนี้

  1. กลุ่มน้ํามัน ต้องติดตามหากมีความเชื่อมโยงไปสู่พันธมิตรอื่นที่เป็นผู้ผลิตน้ํามันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิหร่าน
  2. กลุ่มโรงไฟฟ้า ราคาน้ํามันที่เพิ่มขึ้น อาจหนุนให้ราคาก๊าซปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มขึ้น
  3. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อิสราเอลถือเป็นผู้ผลิตด้านเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ทําให้ตลาดอาจกังวลปัญหาห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์
  4. กลุ่มโรงพยาบาล หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะทําให้เกิดความกังวลต่อการเดินทางของผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานผู้ป่วยต่างชาติหลักของโรงพยาบาลเอกชนไทย
  5. กลุ่มท่องเที่ยว อาจกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันหรือคิดเป็น 2.3% ของจํานวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
  6. กลุ่มยานยนต์ อาจจะกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้ ซึ่งคิดเป็นราว 18% ของการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทย หลักๆ คือ การส่งออกรถกระบะ


อย่างไรก็ตาม สําหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง กลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นแนะนํา เก็งกําไร ในหุ้นพลังงาน ซึ่งคาดได้อานิสงส์จากราคาน้ํามันที่ปรับขึ้น เลือก PTTEP ได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ํามัน และ BCP ผลประกอบการไตรมาส 3/66 ดีตามค่าการกลั่นและการเติบโตผ่านการเข้าซื้อ ESSO สําหรับผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยงอาจพิจารณารอสะสมเมื่อราคาน้ํามันอ่อนตัวเข้าใกล้ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์