"ไซยะบุรีฯ" เตรียมเสนอขาย "หุ้นกู้" อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.55% ต่อปี

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

"ไซยะบุรีฯ" เตรียมเสนอขาย "หุ้นกู้" อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.55% ต่อปี

Date Time: 11 ต.ค. 2566 11:20 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • "โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี" เตรียมเสนอขาย "หุ้นกู้" เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท อัตราดอกเบี้ย 5.15-5.55% ต่อปี ระหว่างวันที่ 20-25 ต.ค.นี้

"โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี" เตรียมเสนอขาย "หุ้นกู้" เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท อัตราดอกเบี้ย 5.15-5.55% ต่อปี ระหว่างวันที่ 20-25 ต.ค.นี้

วันที่ 11 ต.ค. 2566 นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด หรือ XPCL ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี และเป็นบริษัทร่วมในเครือของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower เปิดเผยว่า XPCL เตรียมที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท (Green Bond) ครั้งที่ 1/2566 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ชุด คือ

  • หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี
  • หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2570 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.30 ต่อปี
  • หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2571 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.55 ต่อปี

โดย XPCL จะนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และช่วยลดต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย

สำหรับหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ กรีนบอนด์ สกุลเงินบาทของ XPCL ที่เสนอขายในครั้งนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ BBB+ แนวโน้มคงที่ ขณะที่ XPCL มีอันดับเครดิตองค์กรที่ A- แนวโน้มคงที่ สะท้อนสถานะของบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ช่วยลดความเสี่ยง และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้ โดย XPCL มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ CKPower (TRIS Rating: A) ถือหุ้น 42.5% บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อยที่ 25% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้น 12.5%

โดยหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ XPCL มีการจัดทำและดำเนินการตามกรอบตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Framework) ตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer) ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของ XPCL ได้เป็นอย่างดี โดย XPCL ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยมียอดขายรวมสูงถึง 8,395 ล้านบาท

ทาง XPCL คาดว่ากรีนบอนด์ที่ออกในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอย่างดีเช่นเดิม เพราะธุรกิจของ XPCL มีเสถียรภาพทางด้านรายได้ มีผลการดำเนินงานที่มั่นคง และที่สำคัญ XPCL ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อร่วมสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในปี 2593

นายวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในขณะนี้ผู้ลงทุนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาว แต่ขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า XPCL จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของ สปป.ลาว ในการเป็น Battery of Asia อีกทั้งบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยจัดการกระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงานผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดในประเทศไทย รวมถึงมีการสำรองเงินสดล่วงหน้าเพื่อให้มีความพร้อมในการชำระดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ และไถ่ถอนหุ้นกู้ ซึ่งบัญชีทั้งหมดก็อยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ XPCL มีรายได้เป็นสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าใช้จ่ายที่เป็นสกุลเงินกีบในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินกีบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด 

ขณะที่ XPCL ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 ทั้งนี้ XPCL ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้เฉลี่ยประมาณ 7,400 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh/Year) ซึ่งจัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 3.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)

ส่วนผลการดำเนินงานของ XPCL ในปี 2565 มีรายได้ 16,230 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 14,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin ร้อยละ 91 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้จำนวน 5,211 ล้านบาท มี EBITDA จำนวน 4,567 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin ร้อยละ 88 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดหุ้นกู้ที่ให้ดำรงอัตราส่วนดังกล่าวไม่ให้สูงเกิน 3.0 เท่า

สำหรับหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ในวันที่ 20, 24 และ 25 ตุลาคม 2566 ผู้ลงทุนที่สนใจจองซื้อสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th หรือสอบถามรายละเอียดที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่

  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร.1333 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน BualuangmBanking
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร.0-2111-1111
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร.0-2777-6784 ซึ่งรวมถึง บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร (โทร.0-2165-5555)
  • บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด โทร.0-2695-5000.

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ