ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากรัฐบาลชุดใหม่นั้น ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่สามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ และเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงกว่า 10% หลังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่ในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ นักลงทุนต่างคาดหวังว่าภาพของการฟื้นตัวนี้ จะเป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” หรือไม่
เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4/66 คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อนาคตเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความหวังจากความชัดเจนทางการเมือง และนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ และเชื่อว่าพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 2/66
โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลเพื่อไทย จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ที่ 4.1% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายได้ 2.7%
พร้อมกันนี้คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง เมื่อพิจารณาจาก…
1.แนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน
2.เสร็จสิ้นการปรับลดอันดับเครดิต ผลประกอบการ และจีดีพี
3.นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับความตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัวกลับมาได้
ส่วนเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด โดยมีอัปไซด์จากระดับปัจจุบัน 100 จุด ส่วนเป้าหมายสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1,750 จุด หนุนโดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะฟื้นตัว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มการแพทย์
ทั้งนี้ มองว่าในไตรมาสที่ 4/66 จะมีจุดเข้าซื้อในแนวรับสำคัญที่ช่วงดัชนี 1,500-1,550 จุด แนะนำให้โฟกัสไปที่หุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือทำจุดต่ำสุดแล้ว เป็นบริษัทใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และอิงผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ AOT, BCH, CRC, KCE, KTB
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ปัจจัยแรก คือ ผลกระทบจากการเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของเกษตรกร แต่จะถูกผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาช่วยในไตรมาสที่ 1/67 และปัจจัยที่สอง คือ กรณีที่รัฐบาลเลือกที่จะกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลต่อความเข้มแข็งทางการคลัง
ชี้โอกาสลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม-อินโดนีเซีย
ด้าน พสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป การลงทุนจึงยังเป็นลักษณะแบบระมัดระวัง เน้นคัดเลือกหุ้นของกิจการที่ดีเป็นรายตัว โดยมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าประเทศไทย อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศดังกล่าวเป็นประเทศได้รับเม็ดเงินจากบริษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานผลิตเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงในปีที่แล้วของเวียดนาม และอินโดนีเซีย คิดเป็น 2 และ 4 เท่า เมื่อเทียบกับประเทศไทยตามลำดับ อีกทั้งประชากรของทั้งสองประเทศยังเป็นวัยทำงานมากถึง 50-60% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มสิ่งของอุปโภคบริโภค กลุ่มร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต.