ปัญหาหนึ่งของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ การซื้อขายในหุ้นที่มีมูลค่าสูง โดยเหตุผลสำคัญมาจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้นักลงทุนต้องส่งคำสั่งขั้นต่ำ 100 หุ้น ทำให้เมื่อเจอหุ้นมูลค่าสูงอย่างราคา 100 บาท นักลงทุนอาจต้องใช้เงิน ขั้นต่ำ 10,000 บาทในการส่งคำสั่งซื้อขายต่อครั้ง
ด้วยปัญหานี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศแผนที่เรียกว่า small lot size เพื่อตอบโจทย์กับนักลงทุนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงการลงทุนเพิ่มขึ้น โดย ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลที่เป็นไปได้ และคาดว่าน่าจะได้เห็นข้อสรุปในปีหน้า
ดร.รินใจ เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า ความคืบหน้าของ small lot size นั้น ในเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในหลายส่วนแล้ว และหลายโมเดล โดยความเป็นไปได้ คือเริ่มทำ small lot size มาใช้ในหุ้นที่มีราคาต่อหุ้นสูง และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีเป็นหลัก โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า
“เราอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้การทำ small lot size โดยในเบื้องต้นเรามองว่า จะเข้าไปทำในหุ้นที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง และหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไร และมีวิธีคัดหุ้นแบบไหน คาดว่าความชัดเจนจะได้เห็นในปีหน้า”
สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ หันมาให้ความสนใจในการทำขนาดการซื้อที่ลดลง นั้นเป็นไปตามเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีไซส์ในการซื้อแต่ละไม้ที่เล็กลง ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นพื้นฐานดีได้มากขึ้น เพราะในหุ้นกลุ่มดังกล่าวหากต้องถูกบังคับให้ซื้อขั้นต่ำที่ 100 หุ้น มูลค่าอาจสูงเกินไป และนักลงทุนเข้าไม่ถึง ส่วนหุ้นราคาต่อหน่อยที่ต่ำ คงจะปล่อยให้เป็นไปตามเดิม เพราะนักลงทุนเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ ได้เดินหน้าการส่งคำสั่งด้วยไซส์ขนาดเล็กมาก่อนหน้า ในด้านการซื้อขายของสินทรัพย์อย่าง DR และ DRx ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เข้ามาทำการซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ในระยะต้นการซื้อขายอาจจะยังไม่มากนัก แต่เมื่อมีผู้ออก DR และ DRx รายใหม่เข้าตลาด ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น
และส่งผลให้สภาพคล่องในการซื้อขายนั้นขยับเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ออก DR ในตลาดหลักทรัพย์ 3 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะมีผู้ออกรายใหม่ๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร จากเดิมที่เน้นทำความเข้าใจว่า DR คืออะไร เป็นการเริ่มต้นที่ตัวสินค้าก่อน แล้วค่อยกลับมาอธิบายที่พื้นฐานของ DR ช่วยให้นักลงทุนรุ่นใหม่เปิดใจ และเข้าใจได้ง่ายขึ้น