จับตาภาษีลงทุนต่างประเทศ สะเทือน “รายย่อย-ไพรเวทแบงก์” ดันต้นทุนภาษี กดผลตอบแทน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาภาษีลงทุนต่างประเทศ สะเทือน “รายย่อย-ไพรเวทแบงก์” ดันต้นทุนภาษี กดผลตอบแทน

Date Time: 19 ก.ย. 2566 14:30 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • กรมสรรพากรประกาศปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ซึ่งจะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป บลจ.ทิสโก้ คาดกระทบต้นทุนภาษี กองทุนส่วนบุคคล ไพรเวทแบงก์ และนักลงทุนซื้อขายต่างประเทศโดยตรง

Latest


เป็นที่พูดถึงอย่างมากในวงการตลาดทุนไทย หลังจาก กรมสรรพากร ประกาศ ปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ซึ่งจะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยนักลงทุนต่างติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ทั้งการลงทุนโดยตรง หรือการลงทุนผ่านกองทุนมากน้อยเพียงใด


วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับการพิสูจน์การมีเงินได้ และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมากแล้ว


การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566 เป็นการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศเนื่องจากหน้าที่การงาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยให้ชัดเจน และสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีต่อเมื่อนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย


ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยเก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน

รายย่อยอ่วม แบกค่าใช้จ่ายพุ่ง 

ด้าน สาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า การประกาศปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศของกรมสรรพากรนั้น เป็นการทำให้แนวทางการจัดเก็บภาษีมีความชัดเจนขึ้นจากอดีต


ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยมีการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของช่องทางการลงทุน รวมถึงจำนวนแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนมีมากขึ้นเรื่อยๆ


ทั้งนี้ มองว่าประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง ที่ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษีเมื่อนำเงินลงทุนกลับมาประเทศไทย รวมถึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และธนาคารลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (Private Bank) ที่นำเงินลูกค้าไปลงทุนในกองทุน หุ้น และตราสารหนี้ต่างประเทศ


ขณะที่มองว่าประกาศดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุนรวม (Mutual Fund) เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน และมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)


นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศนั้น จะทำให้เกิดต้นทุนทางภาษีในการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ ดังนั้นนักลงทุนจะต้องชั่งน้ำหนักเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าผลตอบแทนว่ามีความน่าสนใจเพียงใด ซึ่งมองว่าอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีการย้ายเงินไปมาบ่อยๆ


อย่างไรก็ดี มาตรการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้นมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ บลจ.ทิสโก้ มากนัก เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Private Fund จำนวนไม่มาก


จิตตะ ร้องรัฐขอทบทวน


ด้าน ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด และนักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาประกาศนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่ในขณะนี้


โดยภาพรวมแล้วแนวทางที่สรรพากรนำมาใช้เพื่อจัดเก็บภาษีรายได้ในต่างประเทศส่วนนี้เพิ่มเติม ก็เพราะคิดว่าบุคคลที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้นั้นน่าจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ทำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว


ปัจจุบันนี้ นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศได้แล้ว ด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น


“หากกรมสรรพากรมีการเรียกเก็บภาษีจากเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กลุ่มคนที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุดคือนักลงทุนรายย่อยมากกว่า นักลงทุนรายใหญ่ๆ ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย”


นอกจากนี้ แนวทางปฏิบัติในการคิดภาษีในส่วนของการลงทุนในหุ้นยังต้องมีความชัดเจนอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะแตกต่างจากการมีรายได้อื่นๆ เช่น จากการทำงาน หรือการมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะหุ้นเป็นทรัพย์สินเสี่ยงมีโอกาสขาดทุนหรือมีกำไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนการทำธุรกรรมการซื้อขายที่เยอะกว่า  ทำให้การคิดภาษีมีความซับซ้อนสูง สร้างความสับสนในการปฏิบัติต่อนักลงทุน


ดังนั้นถ้าหากจะต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน


ในประเด็นของความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนนั้น เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษี capital gain tax ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ควรจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะตรงกับที่ทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจงล่าสุดว่าต้องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นภาษีภายในประเทศจัดเก็บแบบไหน ก็ควรจะนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในแบบเดียวกัน


ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ดีจากทั่วโลกได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงทุนได้กำไร นักลงทุนก็จะนำเงินกำไรที่ได้จากต่างประเทศกลับมาใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนต่อไป น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะจัดเก็บภาษีจากกำไรตั้งแต่ต้น


จากประสบการณ์ที่เป็นนักลงทุน ผู้สร้างเทคโนโลยีการลงทุน และการได้คลุกคลีอยู่กับนักลงทุนรายย่อยที่ได้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวนมาก ผมยินดีเป็นอย่างมากที่จะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) เสนอแนะปัญหาและข้อกังวลร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมให้มากที่สุดต่อนักลงทุนทุกคน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์