ตลท.ยกเครื่องเกณฑ์คุมหุ้นใหม่ ศึกษาใช้ Auto Halt พักการซื้อขายทันทีเมื่อผิดปกติ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลท.ยกเครื่องเกณฑ์คุมหุ้นใหม่ ศึกษาใช้ Auto Halt พักการซื้อขายทันทีเมื่อผิดปกติ

Date Time: 12 ก.ย. 2566 17:12 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เร่งศึกษาแนวทางในการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai ทั้งกระบวนการ เล็งคุมเข้มการเข้าจดทะเบียนแบบ Backdoor Listing พร้อมศึกษาแนวทางขึ้นเครื่องหมาย Auto Halt

Latest


ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างให้ความสนใจกับปัญหาต่างๆ ในตลาดทุนไทย ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเคสของหุ้น MORE หรือ บมจ.มอร์ รีเทิร์น กับการปล้นเงินโบรกเกอร์ และล่าสุดอย่างกรณีหุ้น STARK หรือ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น กับการตกแต่งบัญชีสร้างความเสียหายแสนล้าน กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างหนัก


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เร่งศึกษาแนวทางในการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai ทั้งกระบวนการ เพื่อป้องกันปัญหาและปิดช่องโหว่การกระทำความผิด จากแนวทางการเพิ่มกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงต่อยอดเครื่องมือการกำกับดูแลเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย


ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การเข้าจดทะเบียน การเฝ้าระวังการซื้อขาย การนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ และการให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ


โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างทบทวนการปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai ที่ปัจจุบันแตกต่างกันด้วยขนาด ฐานะการเงิน และผลประกอบการ เพื่อรองรับธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ทุนสูง และสามารถแข่งขันได้กับตลาดในภูมิภาคได้


ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างทบทวนการปรับให้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าการเข้าไอพีโอ, การเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Backdoor Listing) และการกลับเข้ามาเทรดใหม่นั้น อยู่ในมาตรฐานการพิจารณาแบบเดียวกัน คือ สำนักงาน กลต. และการทำรายการดังกล่าวต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินด้วย ซึ่งคาดว่าแนวทางดังกล่าวจะมีความชัดเจนได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า


นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ศึกษาแนวทางการทำ “Auto Halt” หากมีสัญญาณความผิดปกติที่มีนัยสำคัญ ซึ่งการขึ้นเครื่องหมาย H นั้น เป็นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขาย หากแนวทางดังกล่าวมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบในระยะต่อไป


ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเพิ่มและปรับปรุงเงื่อนไขการขึ้นเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้ตรงเงื่อนไขมากขึ้น เช่น รายได้น้อย ขาดทุนติดต่อกัน ผิดนัดชำระหนี้ ผู้สอบไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน หรือมีสภาพคล่องต่ำ คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในปี 2567


และอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงาน กลต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เพื่อร่วมจัดตั้ง “Securities Bureau” เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีข้อมูลในการตัดสินใจให้เงินกู้สำหรับบัญชีมาร์จิ้น เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้น พร้อมมีแนวทางการเพิ่ม “Volume Alert” ในช่วงระหว่างการซื้อขายเมื่อพบความผิดปกติของปริมาณการซื้อขาย


ด้าน แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางยกระดับมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนแบบเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน


ในช่วงที่ผ่านมา การออก Statement เตือนนักลงทุนในกรณีที่การซื้อขายหุ้นมีความผิดปกตินั้น เป็นการดำเนินตามมาตรการเดิมที่มีอยู่ และเป็นการปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


สำหรับการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้น มองว่าจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการทำงานและการพัฒนากฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการออกเกณฑ์ใหม่ๆ ด้วย โดยมองว่าการมุ่งเน้นเพิ่มกฎระเบียบใหม่เพียงอย่างเดียว จะทำให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินกิจการได้ลำบากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด


อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีข้อจำกัดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และมีบทบาทตาม “พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” เท่านั้น โดยอำนาจการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์