ประสบความสำเร็จอย่างงดงามสำหรับงาน “Thailand Focus 2023 : The New Horizon” ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บล. เกียรตินาคินภัทร และ บล. ทิสโก้ ร่วมด้วย Jefferies ระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยได้การตอบรับจากผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกอย่างคึกคักกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลกเข้าร่วมงานเพื่อรับฟังข้อมูลความทิศทางอนาคต ศักยภาพและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย
ปีนี้มีสถาบันการลงทุนจากกลุ่มประเทศหลักๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สวีเดน ไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีการประชุมในรูปแบบ Group Meeting และ One-on-One กับบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าร่วมให้ข้อมูลในงาน 118 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าตลาดทุนไทยยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุน ซึ่งในปีนี้จัดงานในรูปแบบ Hybrid ซึ่งนอกจากผู้ลงทุนที่เดินทางมาร่วมงานประชุมในประเทศไทยแล้ว ยังมีนักลงทุนที่รับฟังข้อมูลผ่าน Virtual Conference อีกด้วย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า Thailand Focus 2023 ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ภายใต้แนวคิด The New Horizon” ที่ได้เปิดมุมมองใหม่ ให้ผู้ลงทุนถึงศักยภาพของภาคเอกชนและตลาดทุนไทย โดยได้นำเสนอเนื้อหาที่ลงลึกในศักยภาพ และโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรม ที่จะเป็นจุดขายใหม่ของประเทศ และนำมาสู่ความก้าวหน้าและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ซึ่งงานนี้ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก และชี้ให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนในตลาดทุนไทย
The New Horizon เป็นการก้าวไปข้างหน้า การสำรวจขอบเขตใหม่ ความเป็นไปได้และการเปิดรับโอกาสที่ไร้ขอบเขตที่รออยู่ข้างหน้า โดยดึงจุดแข็งของประเทศมาใช้ และมุ่งหน้าสู่ ‘The New Horizon’ ด้วยรากฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ และภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังพัฒนา พร้อมต่อยอดพัฒนาการของท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรม Soft Power ของประเทศ ถือเป็นจุดแข็งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"ผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ สู่โอกาสการเติบโตด้วยอุตสาหกรรมใหม่ และธุรกิจที่เป็นอนาคตของประเทศ เป็นการต่อยอดจากความเข้มแข็งของไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ Soft Power ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย ขณะที่ในการประชุมร่วมระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้ลงทุนสถาบัน ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนโลกให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน”
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า The New Horizon ไม่ใช่แค่แนวคิดการจัดงานเท่านั้น แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงปรับตัวและก้าวไปสู่ความเหนือชั้นท่ามกลางความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งการที่ผู้นำอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนได้มาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ภูมิทัศน์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดทุนไทย
ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ฉายภาพถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองและโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งความมุ่งมั่นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในตลาดทุน
โดยชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่แข็งแกร่งและมีความหลากหลาย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจมหภาคที่ดีมีเสถียรภาพ แต่ความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการมองหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อการเติบโตยังคงมีอยู่อย่างมากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่เรากำลังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งหลัก โดย soft power ของไทยมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศ การวางกลยุทธ์ วางตำแหน่งในตลาดโลก เพื่อให้ได้ประโยชน์จากศักยภาพและขับเคลื่อนการเติบโตเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ ธนาคารกลางมีการจัดการอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอย่างดี ทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ การมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สาธารณะต่ำ อัตราเงินเฟ้อไม่สูงมาก และระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในตลาดทุนไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาด การขยายการเข้าถึงตลาด ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเชื่อมั่นของตลาดโดยรวม ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้แข่งขันได้ทั่วโลก
โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยถือเป็นตลาดชั้นนำในภูมิภาค มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการเปิดบัญชีใหม่ที่เพิ่มขึ้น ตอกย้ำสภาพคล่องที่สูงของตลาด ปี 2565 มีการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO) สูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ และการเสนอขายในตลาดรอง(secondary offerings)ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์ ครึ่งแรกปีนี้ IPO มีมูลค่ารวม 0.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนตลาดรองมีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ แนวโน้มการระดมทุนผ่าน IPO จะเพิ่มมากขึ้นทั้งปีนี้และปีหน้า แม้ตลาดยังผันผวน
ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมุ่งยกระดับการควบคุมดูแลตลาดเพื่อความเชื่อมั่น กรอบการกำกับดูแลที่ไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่การปฏิบัติตามและการบังคับใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมแห่งความซื่อตรง และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เข้าร่วมตลาดทุกคนได้รับประโยชน์ สนับสนุนความเชื่อมั่นในตลาดทุนของไทย
ขณะที่ในด้านความยั่งยืนนั้น ในตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาก เพราะการทำกำไรไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) เป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทั้งสถาบันและรายบุคคลนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุน สินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่เน้น ESG ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอกย้ำความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จึงจะเห็นว่า บริษัทหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์ไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากลสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้นำระดับภูมิภาคในเรื่องนี้ บริษัทไทย 42 แห่งมีรายชื่ออยู่ใน MSCI ESG Universal Index และอยู่ใน ดัชนี FTSE4Good Emerging อีกด้วย นอกจากนี้ 26 บริษัทในกลุ่มนี้ ยังติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) และมี 12 แห่งที่ได้รับการจัดอยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” หรือ “Gold Class” จาก S&P Global ตอกย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการ ESG ของประเทศไทย
"แต่ความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของไทยไปไกลเกินกว่ารางวัล และแนวปฏิบัติขององค์กร เพราะเราได้บูรณาการความยั่งยืนเข้ากับแกนหลักของตลาดทุนหลัก โดยส่งเสริมบริษัทจดทะเบียน จัดทำรายงานประจำปีพร้อมเปิดเผยผลการดำเนินงานด้าน ESG(one report) นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พัฒนา แพลตฟอร์มข้อมูล ESG ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพลตฟอร์มนี้มีบทบาทสำคัญในการกระจายข้อมูล ESG ในระบบนิเวศของการลงทุน ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ESG Taxonomy เพื่อสร้างมาตรฐานและทำให้การรายงานและการประเมิน ESG มีความชัดเจนและสม่ำเสมอมากขึ้น ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้นักลงทุนและบริษัทมีข้อมูลในการตัดสินใจ และสนับสนุนการลงทุนที่ยั่งยืน ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่จูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นโอกาสในการขยายขอบเขตลงทุน"
ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “Thai capital market towards the new horizon” โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ผมเชื่อในอาเซียน เราสามารถทำให้อาเซียนเป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุน ซึ่งเขาต้องการเข้ามาลงทุนในเอเชีย รัสเซียปิดแล้ว จีนท่าทีเปลี่ยนไปไม่แน่นอน อินเดียเป็นตลาดที่ดีและดำเนินการยาก นักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพราะมีเสถียรภาพสำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องดีของไทย เราต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยก็จะเติบโตไปด้วยกัน ต้องทำให้อาเซียนเป็นแหล่งของ supply chain ใหม่ ซึ่งจะย้ายหนีออกจากจีน และประเทศไทยโชคดี เราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้ดี เราต้องใช้จุดแข็งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเข้าร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาคและในระดับโลก "ขณะเดียวกันต้องทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง จุดรวมของการลงทุน ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศเพียงพอ ก็ต้องดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อทำให้ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเอเชีย"