บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ได้รายงานผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัท ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 121,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายจํานวน 115,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจํานวน 2,617 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โดยการเติบโตของรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขายภายในสาขา และการเติบโตจากการขายออนไลน์และการขายนอกร้านของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจ แม็คโครต่างประเทศในทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกลดลงร้อยละ 3.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับแผนการดําเนินงาน รวมถึงการลดชั่วโมงการให้บริการในบางสาขา ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายออนไลน์และการขายนอกร้านของบริษัทฯ และบริษัทย่อยคิดเป็นร้อยละ 12.4 ของ รายได้จากการขาย
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการให้บริการและรายได้อื่นรวมทั้งสิ้น 2,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจํานวน 135 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลหลักจากรายได้ค่าบริการสําหรับกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เพิ่มขึ้น
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิจํานวน 1,516 ล้านบาท ลดลงจํานวน 57 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อนึ่ง หากไม่รวมรายการตัดจ่ายค่าธรรมเนียม และขาดทุนจากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จากการจ่ายชําระคืนเงินกู้ก่อนกําหนดจํานวน 185 ล้านบาท (สุทธิจากภาษีเงินได้) กําไรสุทธิสําหรับไตรมาสที่ 2 จะเป็นจํานวน 1,701 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.1
นอกจากนี้ผลการดําเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 241,834 ล้านบาท เติบโต 11,746 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายรวมเท่ากับ 230,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,393 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลหลักจากการเติบโตของรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าส่งร้อยละ 10.1
ทั้งนี้แนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยตั้งเป้าเติบโตทั้งในรูปแบบการขายภายในสาขา การขายออนไลน์และขายนอกร้าน (Omni Channel) โดยขยายสาขาในหลากหลายรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศในครึ่งปีหลังของปี 2566 ประกอบไปด้วย ขยายสาขาขนาดใหญ่ 8-10 สาขา สาขาขนาดกลาง และขนาดเล็กกว่า 70-80 สาขา พร้อมทั้งเสนอสาขาในรูปแบบใหม่ อาทิ รูปแบบผสมผสาน (Hybrid Model) ซึ่งดึงจุดเด่นของ 2 กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกแบบไร้รอยต่อ ในเรื่องบริการจัดการพื้นที่ศูนย์การค้าและอาหารสด
พร้อมทั้งสรรหาผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีราคาที่ดึงดูดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และไฮเปอร์มาร์เก็ตขายส่ง (Wholesale Hypermarket) เน้นขายสินค้าราคาประหยัด สะดวก และสะอาด รวมถึงร้านค้าอัจฉริยะ (Smart Store) เพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบสมาร์ทในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ดี บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังมุ่งมั่นขยายธุรกิจโดยลงทุนพัฒนาระบบออนไลน์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของ Omni Channel พร้อมทั้งยังสามารถต่อยอดได้อีกหลายมิติ อาทิ การนำเสนอสินค้า และโปรโมชันแบบเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น (Hyper-Personalization) พร้อมทั้งจัดทัพเถ้าแก่ขาย (Salesforce Team) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของโชห่วย (Food Retailer) และธุรกิจร้านอาหาร
โดยคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วน Omni Channel เป็นร้อยละ 15-20 ของยอดขายรวมภายในปี 2567 นอกจากนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีแผนขยายปรับปรุงพื้นที่ศูนย์การค้าในสาขาเดิมทั่วประเทศ พลิกโฉมสู่การเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนทุกวัยในชุมชน (SMART Community Center) โดยออกแบบให้แต่ละสาขามีสินค้าและบริการ อีกทั้งร้านค้าเช่าที่แตกต่างกันไปตามความต้องการและไลฟ์ สไตล์การใช้ชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่
พร้อมทั้งแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ส่งเสริมการเป็น SMART Community Center เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ และจับจ่ายในร้านค้าให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ค่าเช่าและรายได้จากการให้บริการศูนย์การค้าให้มีแนวโน้มดีขึ้น ตามที่กล่าวข้างต้นจะส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในระหว่างครึ่งแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยได้ชำระหนี้บางส่วน และกู้ยืมเงินสกุลบาทมาเพื่อคืนเงินกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มลดลงอย่างมีสาระสำคัญในครึ่งหลังของปี
สำหรับธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสท่ี 2 ของปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 210 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืม แม้ว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหลักปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสนี้ โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกมี รายการตัดจ่ายค่าธรรมเนียมและขาดทุนจากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศจากการจ่ายชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดจำนวน 185 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจค้าส่งมีกำไรสุทธิจำนวน 1,089 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากผลกำไรท่ีลดลงของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากค่าใช้จ่าย สืบเนื่องรวมทั้งดอกเบี้ยจากการลงทุนในระบบงานของธุรกิจออนไลน์ และการขายนอกร้านค่าไฟฟ้าท่ีเพิ่มขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยท่ีเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างเงินลงทุนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก นอกจากนั้นธุรกิจแม็คโครต่างประเทศยังมีผลขาดทุนในไตรมาสนี้จากการขยายสาขาเมื่อปลายปีที่แล้ว และกำไรสทุธิที่ลดลงของธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส.