ศาลอังกฤษ สั่ง "ณพ ณรงค์เดช และพวก" จ่าย 3 หมื่นล้านบาท ชดใช้อดีตซีอีโอ วินด์ฯ

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ศาลอังกฤษ สั่ง "ณพ ณรงค์เดช และพวก" จ่าย 3 หมื่นล้านบาท ชดใช้อดีตซีอีโอ วินด์ฯ

Date Time: 1 ส.ค. 2566 20:21 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง หรือ WEH พึ่งศาลอังกฤษ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน ในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงขายหุ้นวินด์เมื่อ ปี 2558 ล่าสุดศาลอังกฤษสั่งจำเลยและพวกชดใช้ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 3 หมื่นล้านบาท

ตามที่ บีบีซีไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอังกฤษตัดสินให้นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เนื่องจากนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH

โดยคดีนี้มีผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ เป็นจำเลยที่ 15 นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมาย Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13 และ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำเลยที่ 11 รวมทั้งนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 รอดจากคดีนี้ 

รายงานข่าวจากบีบีซีไทย ระบุด้วยว่า นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ มีคำตัดสินว่านายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบและต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยรวมกันเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 432 ซึ่งระบุว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่า ในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

"อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

"ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

สำหรับ คดีนี้มีโจทก์ 4 ราย และ จำเลย 17 ราย ประกอบด้วย

ฝ่ายโจทก์ มี 4 ราย ได้แก่

  1. นายนพพร ศุภพิพัฒน์
  2. บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด
  3. บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด
  4. บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จำกัด

จำเลย มี 17 ราย (ผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร WEH, SCB และผู้บริหาร SCB) ได้แก่

  1. นายณพ ณรงค์เดช
  2. นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ อดีต CEO ของ WEH
  3. นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหาร WEH และ REC
  4. นายอามาน ลาคานี อดีตผู้บริหาร WEH
  5. นางคาดีจา บิลาล ซิดดิกี ภรรยานายลาคานี
  6. บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก
  7. บริษัทเคเลสตัน โฮลดิงส์ จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก
  8. บริษัท เอแอลเคบีเอส จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก
  9. บริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนในฮ๋องกง
  10. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  11. นายอาทิตย์ นันทวิทยา
  12. บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด
  13. นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ
  14. ดร.เกษม ณรงค์เดช
  15. คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา
  16. นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง WEH
  17. นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ อดีต CFO ของ KPN Group ของตระกูลณรงค์เดช

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาแคลเวอร์ยังเห็นว่า นายณพ, นายณัฐวุฒิ, นายวีระวงค์ และบรรดาผู้บริหารของ WEH มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“ในประเด็นการเคลื่อนย้าย ปกปิด หรือโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นด้วยความจงใจที่จะสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้นั้น ศาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นแผนการยักยอกทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยจำเลยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการขัดขวางไม่ให้บริษัทต่างๆ ของนายนพพร ได้รับการชำระเงินในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทต่างๆ ของนายณพ จากข้อเท็จจริงที่ศาลพบ เป็นมุมที่ตื้นเขินเกินไปที่มองว่าการโอนหุ้นกรณีนายเกษมเป็นเรื่องแยกส่วนจากการโอนต่อๆ มา” ผู้พิพากษา ระบุ

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวเป็นความคืบหน้าสำคัญในข้อพิพาททางธุรกิจที่กินเวลา 9 ปี นับจากที่นายนพพร นักธุรกิจหนุ่มดาวรุ่ง เศรษฐีด้านโรงไฟฟ้าพลังลม หนีออกนอกประเทศหลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปลายปี 2557 แล้วหาตัวแทนอำพราง (nominee) มาถือหุ้นในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้ง

จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายณพ ณรงค์เดช ผู้ซื้อหุ้น, ธนาคารไทยพาณิชย์ผู้ปล่อยกู้ให้นายณพ และการฟ้องร้องระหว่าง ครอบครัวณรงค์เดช กับ นายณพ ในเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และเรื่องอื่น ๆ

ข้อพิพาทนี้ทำให้ WEH ต้องเลื่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ไปจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด โดยนายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ CEO คนปัจจุบัน ของ WEH ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2565) คาดว่าคดีความทั้งหมดจะคลี่คลายได้ภายในปลายปี 2566 และทำ IPO ได้ภายในปี 2567-2568

ส่วนการที่คดีนี้ ขึ้นเป็นคดีที่อังกฤษ นายนพพรกล่าวหาจำเลยทั้ง 17 ว่าสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่า โดยศาลพาณิชย์ ซึ่งเป็น 1 ในศาลชำนัญพิเศษ ภายใต้ศาลธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ (Business and Property Courts) ของอังกฤษ กำหนดเวลาสืบพยานทั้งสิ้น 17 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 และสิ้นสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566

หลังจากนั้น เมื่อ 24 กรกฎาคม 2566 ศาลได้ส่งร่างคำตัดสินให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนออกคำพิพากษาเป็นทางการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

สำหรับการที่ศาลอังกฤษสามารถพิจารณาคดีที่โจทก์เป็นคนไทย และมีจำเลยเป็นชาวไทยและอังกฤษได้นั้น เนื่องจาก จำเลยที่ 2 คือ นางเอมมา ลูอิส คอลลินส์ (Emma Louise Collins) อดีตซีอีโอของ WEH มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งกฎหมายของอังกฤษอนุญาตให้ศาลอังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดนอกประเทศได้ และจำเลยอื่นๆ ในคดีนี้ที่ไม่มีสัญชาติอังกฤษก็ไม่ปฏิเสธขอบเขตอำนาจของศาลอังกฤษ

การพิจารณาคดีนี้ ศาลอังกฤษนำกฎหมายไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง เบลิทซ์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (BVI) และกฎหมายล้มละลายของอังกฤษ (Insolvency Act 1986) มาประกอบการพิจารณาคดี

ในตอนหนึ่งของคำตัดสินความยาว 419 หน้า ผู้พิพากษาแคลเวอร์ระบุว่า ไม่เชื่อในสิ่งที่นายณพ จำเลยที่ 1 ให้การที่ศาลในกรุงลอนดอนระหว่าง 21-24 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งนายณพให้การว่า “มีความหวังและตั้งใจทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับ” นายนพพร ในการชำระหนี้

“เขาอ้างว่าเขาหวังว่ามรดกที่วาดหวังว่าจะได้รับ และ ‘อีกแหล่งรายได้’ จะเพียงพอ ศาลไม่ถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้”

สรุปคดีหลัก

ช่วงปี 2552 - 2557 นายนพพรถือหุ้น WEH เป็นจำนวน 59.46% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด (REC) โดยบริษัท REC มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด, บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทก็เป็นบริษัทของนายนพพรเอง ถือหุ้น REC รวม 97.94% ของทั้งหมด

จนปลายปี 2557 นายนพพรถูกกล่าวหาด้วยคดีอาญาหลายคดี รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีการกดดันจาก SCB และกรรมการของ WEH ให้นายนพพร ขายหุ้น WEH เพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจาก SCB สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้า และในปี 2558 นายณพ ได้ขอซื้อหุ้นจากนายนพพร

โดยนายณพได้จัดตั้ง 2 บริษัทขึ้นมาทำสัญญาซื้อหุ้น จากกลุ่มบริษัทของนายนพพร คือ บริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อิน เวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด ซึ่งนายณพ มีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว ส่วนบริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด (KPNEH) ซึ่งนายณพถือหุ้น 40%, บริษัทฟูลเลอร์ตัน ถือ 20% โดยหุ้นส่วนที่เหลือมี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ และ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหารและกรรมการของบริษัท WEH ถือคนละ 20%

การทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท REC ของ นายนพพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ใน WEH ให้นายณพ แบ่งเป็นสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่

  • สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ขายหุ้น 49% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด ให้กับบริษัท ฟูลเลอร์ตัน ของนายณพ
  • สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ของนายนพพร ขายหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้กับ KPNEH ของ นายณพ

ต่อมา นายนพพร ได้ยื่นฟ้อง SCB ผู้บริหาร SCB และผู้บริหารและกรรมการของ WEH รวม 17 ราย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะไม่ได้รับการชำระเงินส่วนที่เหลือจากนายณพ และหุ้นที่ได้ขายไปนั้น ได้มีการโอนไปให้ผู้อื่น จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคดีหลักต่อศาลอังกฤษ

ทนายความของนายนพพร ระบุว่า ฝ่ายจำเลยสมคบกันใช้อำนาจในการจัดการเอกสารสำคัญ ในช่วงปี 2557–2561 จูงใจให้นายนพพรและบริษัทในเครือของเขาขายหุ้น REC ในราคาต่ำกว่าราคายุติธรรมให้กับบริษัทของนายณพ โดยในช่วงที่มีการซื้อขาย หุ้นมีมูลค่า 872 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นายนพพรกลับได้รับเงินเพียง 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฝ่ายโจทก์ระบุว่า จำเลยบางรายบิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจูงใจให้ตนขายหุ้น REC ให้กับบริษัทของ นายณพก่อน โดยหลอกว่าตนจะมีสิทธิในการซื้อหุ้น WEH คืนได้ด้วยสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง (call options) แต่หลังจากที่นายนพพรโอนหุ้น REC ไปยังบริษัทของนายณพแล้ว กลับมีการโอนหุ้น WEH ออกจาก REC ให้จำเลยหลายราย ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้นายนพพรสามารถเข้าถึงหุ้น WEH ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นบริษัท WEH และผู้บริหาร SCB ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ทั้งนี้ หลังจากศาลอังกฤษมีคำตัดสินเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งอังกฤษ ในกรุงลอนดอน เพื่อติดตามผลการตัดสิน และพยายามขอสัมภาษณ์นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ