PTTEP หรือ ปตท.สผ.โชว์กำไร Q 2/66 2.1 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 7% ผลรับรู้สัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

PTTEP หรือ ปตท.สผ.โชว์กำไร Q 2/66 2.1 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 7% ผลรับรู้สัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า

Date Time: 31 ก.ค. 2566 19:16 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • PTTEP แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.4 พันล้านบาท หรือเติบโต 7%

Latest


บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/66 ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารายได้จากการขายลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดยหลักจากการรับรู้ กำไรจากสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าในไตรมาสนี้ (ไตรมาส 1 ปี2566 : รับรู้ขาดทุน) โดยกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น


1. กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไร 592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายลดลง 269 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณ การขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง ประกอบกับค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากโครงการจี 2/61


อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้ลดลง 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากโครงการในประเทศไทย ประเทศโอมาน และประเทศมาเลเซีย ตามกำไรที่ลดลง นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากการปรับปรุงทางบัญชีในไตรมาส 1 ปี 2566 ของโครงการบงกช เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และค่าภาคหลวงลดลง 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่จากโครงการสัญญาแบ่งปันผลผลิตในประเทศไทย มีสัดส่วนรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น


2. กำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 2 ปี2566 จำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีขาดทุน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากการรับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า จำนวน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ในขณะที่ไตรมาสก่อนเป็นขาดทุน 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น


นอกจากนี้ ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีความกังวลว่าความต้องการใช้พลังงานโลกมีแนวโน้มลดลง ถึงแม้จะมีการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมของกลุ่ม OPEC+ ก็ตาม ทำให้ในไตรมาส 2 ปี 2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 77.59 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 80.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)


และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยสำหรับปี 2566 จะเคลื่อนไหวในกรอบราคา 70–80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยยังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก นโยบายของกลุ่ม OPEC+ การบริหารจัดการคลังสำรองน้ำมันดิบ ทางยุทธศาสตร์ และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ


ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61(เอราวัณ) มาอยู่ที่ ระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ การผลิตก๊าซฯ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตของ โครงการจี 2/61(บงกช) เต็มไตรมาสที่อัตราการผลิตเฉลี่ย 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจจี 1/65 และ จี3/65 ในอ่าวไทย และการชนะการประมูลแปลงสัมปทาน Z1-02 และลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกลุ่มบริษัทผู้ร่วมทุนจากประเทศเกาหลีใต้ และฝรั่งเศส เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนแบบครบวงจรในรัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนที่กำลังการผลิตประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี และโรงงานผลิตกรีนแอมโมเนียที่กำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปีซึ่งกลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาเชิงเทคนิค ความเป็นไปได้ในการลงทุน และมูลค่าการลงทุนของโครงการดังกล่าวต่อไป


ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. สำหรับไตรมาส 3 และปี 2566 ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขายและต้นทุน โดยบริษัทได้ติดตามและปรับเปลี่ยน แนวโน้มผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์