อนันดา เปิด 3 แนวทาง แก้ปม แอชตัน อโศก หวังไม่รื้อถอน เตรียมแผนตั้งรอง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อนันดา เปิด 3 แนวทาง แก้ปม แอชตัน อโศก หวังไม่รื้อถอน เตรียมแผนตั้งรอง

Date Time: 31 ก.ค. 2566 09:43 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN แจ้งถึงผลกระทบจากคำพิพากษาของคดีโครงการแอชตัน อโศก และแนวทางการแก้ไขของบริษัท 3 แนวทาง หวังไม่ต้องรื้อถอน พร้อมประเมินมูลค่าความเสียหาย เตรียมแผนตั้งสำรอง

Latest


บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลกระทบจากคำพิพากษาของคดีโครงการแอชตัน อโศก และแนวทางการแก้ไขของบริษัท หลังมีผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม.6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 และเลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าวนั้น


บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเฉพาะในสัดส่วนที่ลงทุนไว้ในบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด (“บริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ”) ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุน (Joint Venture) ระหว่างบริษัทฯ กับ ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จํากัด (“บริษัทร่วมทุน”) ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51 และร้อยละ 49 ตามลําดับ โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ เป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมจํานวน 6,481 ล้านบาท และมีจํานวนยูนิตทั้งสิ้น 783 ยูนิต โดยมีจํานวนยูนิตที่โอนไปแล้วจํานวน 668 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87 และปัจจุบันมีจํานวนยูนิตคงเหลือ 115 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 828 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 การดําเนินงานของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการชําระหนี้ตามตราสารหนี้ และภาระผูกพันต่างๆ ที่มีผลผูกพันกับบริษัทฯ ได้ตามปกติ รวมทั้งยังสามารถดําเนินธุรกิจ และทําธุรกรรมกับคู่ค้า สถาบันการเงินต่างๆ ได้ตามปกติ


บริษัทฯ ขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลแห่งคําพิพากษาดังกล่าว และแนวทางที่จะแก้ไขต่อไปโดยเร็ว ดังนี้


(1) โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คําพิพากษาดังกล่าว นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วมในโครงการแอชตัน อโศก แล้ว ยังส่งผลกระทบกับบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ในฐานะผู้ประกอบการโครงการนี้ด้วย ในส่วนของบริษัทฯ และบริษัทร่วมทุน ในฐานะผู้ลงทุน และผู้ถือหุ้นของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ก็ได้รับความเสียหายตามสัดส่วนที่บริษัทฯ ได้ลงทุนถือหุ้นในบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมการของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ บริษัทฯ และบริษัทร่วมทุนจึงได้ร่วมกันรวบรวมความเสียหาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดต่อเจรจากับส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร่งด่วน ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการประเมินร่วมกับผู้สอบบัญชีของบริษัทและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และเพื่อพิจารณาการตั้งสํารองในไตรมาส 2 นี้

(2) แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง แต่ความเสียหายดังกล่าวยังสามารถแก้ไขได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐได้เสนอทางแก้ตามที่เป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้วว่า กรณีที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ ไม่จําเป็นต้องรื้อถอนอาคาร ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ กําลัง พิจารณาหาแนวทางแก้ไขที่มีอยู่หลายแนวทาง โดยบริษัทฯ และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ จะได้ขอเข้าพบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกัน อันได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันทําการ นับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษา เพื่อเจรจาหาทางแก้ไขกับหน่วยงานของรัฐต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดมิได้กําหนดกรอบระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนอาคาร ว่าหน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะต้องดําเนินการภายในเมื่อใด และมิได้กําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งนี้ หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทดําเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

(3) บริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติ หรืออนุญาตให้ทําโครงการแอชตัน อโศก เพื่อแก้ไขความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ซื้อห้องชุดหรือเจ้าของร่วม รวมถึงความเสียหายของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ ผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวด้วยความสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับรองไว้หลายหน่วยงานมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการดําเนินการควบคู่กับการพิจารณาแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทางด้วย ซึ่งบริษัทฯ จะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป

บริษัทฯ จะหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหากมีความคืบหน้า หรือมีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ บริษัทฯ จะแจ้งข่าวให้ทราบผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์