นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการทั่วโลก ที่ต้องการขยาย หรือย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในจีน เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวได้อย่างน่าสนใจ นำโดย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA และบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ #ThairathMoney ว่า ในเชิงปัจจัยพื้นฐานหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยหลัก คือ การย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนที่เริ่มหันมามองที่ตั้งฐานการผลิตนอกประเทศมากขึ้น หลังถูกกดดันจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ ทำให้มีข้อจำกัดในการส่งออก-นำเข้าสินค้าที่ผลิตจากจีน
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการปิดประเทศอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายที่มีฐานการผลิตเพียงอย่างเดียว มีความติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิต เพื่อกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตมากขึ้น
ทั้งนี้ มองว่านิคมอุตสาหกรรมไทยยังมีความน่าสนใจอยู่ โดยในภาพรวมยังถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่กำลังมองหาทำเลที่ตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคนี้อยู่
สำหรับในแง่ของการลงทุน มองว่าช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงแล้ว นักลงทุนที่ต้องการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะต้องหาจังหวะที่หุ้นย่อตัวลงมาเพื่อเข้าลงทุน
ส่วนความเสี่ยงของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คือ เรื่องภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีการชะลอเซ็นสัญญาจ่ายเงิน แม้มียอดจองเข้ามาแล้ว ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ให้มีโอกาสลดลง
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัท หลักทรัพย์ธนชาต จํากัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มกําไรดีต่อเนื่อง จากความต้องการที่ดินแข็งแกร่ง โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รายงานสถิติมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเป็นผลมาจากต่างชาติต้องการกระจายความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ
ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยอยู่ในทําเลที่ดีมีความได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนจากภาครัฐ และการขนส่ง โดยจังหวัดที่มีการขอรับการส่งเสริมมากสุด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มองความต้องการที่ดินแข็งแกร่งต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แนะนํา “ซื้อ” หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คาดยอดการจอง (Pre-sales) โตดี และได้ผลบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้า อย่าง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ซึ่งมีที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในชลบุรีและระยอง ส่วนบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ปัจจุบันยังมีมูลค่า “ไม่แพง” และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นช้ากว่าเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน.