3 หุ้นการเมืองพุ่ง รับข่าวเศรษฐาพร้อมเป็นนายกฯ นักวิเคราะห์ฯ ชี้ตั้งรัฐบาลช้ากดจีดีพี

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

3 หุ้นการเมืองพุ่ง รับข่าวเศรษฐาพร้อมเป็นนายกฯ นักวิเคราะห์ฯ ชี้ตั้งรัฐบาลช้ากดจีดีพี

Date Time: 17 ก.ค. 2566 14:58 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Latest


ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยเคลื่อนไหวทั้งแดนลบและบวก หลังยังมีความไม่แน่นอนด้านการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ดูมีโอกาสน้อยลงไปทุกที ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ ให้ความเห็นว่ามีโอกาสสูง ที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะได้รับการเสนอชื่อ และได้รับความเห็นชอบในการโหวตครั้งถัดๆ ไป


ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะในฝั่งเพื่อไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก ทั้ง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ราคาปิดการซื้อขายในช่วงเช้าที่ 1.99 บาท เพิ่มขึ้น 3.11% บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ที่ราคาปิดการซื้อขายในช่วงเช้าี่ 4.58 บาท เพิ่มขึ้น 2.23% และบริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 ปิดการซื้อขายที่ 18.20 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2.25%


หลังจากมีกระแสข่าวของ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พร้อมที่จะนั่งนายกรัฐมนตรี หากถูกเสนอชื่อ 


อย่างไรก็ดี ในด้านการจัดตั้งรัฐบาล ยังต้องติดตามว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร โดยในมุมมองของนักวิเคราะห์ มองว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า ก็อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลัง ประเมินว่า กรณีจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยืดเยื้อไม่เกิน 6 เดือน คาดกระทบต่อจีดีพีราว 0.05%


บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง และประเทศไทยไม่น่าจะมีรัฐบาลใหม่ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมตามที่คาดไว้ โดยคาดความเป็นไปได้ของสถานการณ์เป็น 5 กรณี ดังนี้


(1) กรณีฐานก่อนหน้านี้ ที่เคยคาดว่า นายพิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดูไม่น่าจะเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาเพียง 5%


(2) ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลสนับสนุน


(3) ที่ยังน่าจะเป็นไปได้ คือ พรรคเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐและภูมิใจไทย เสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคก้าวไกลไปเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งคิดว่าสถานการณ์นี้เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดโดยรวม


(4) เพื่อไทยจับมือกับภูมิใจไทย เพื่อเป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขนาดเล็ก ปล่อยให้ก้าวไกล พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ กลายเป็นฝ่ายค้าน


และสถานการณ์สุดท้าย (5) แม้ว่าจะมองว่าไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง คือ สถานการณ์ที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยจัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา หากเป็นเช่นนี้ คาดว่าพลเอกประวิตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ (3) และจะเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางการเมืองได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกนาน


บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ยังคงเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ 1,650 จุด บนสมมติฐานที่กระบวนการทางการเมืองเดินหน้าไปอย่างราบรื่น การปรับคาดการณ์กำไรของตลาดมีอย่างจำกัด และ P/E เฉลี่ยระยะยาวที่ 16 เท่า อย่างไรก็ตาม หากมีความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้น ประเมินว่าตลาดอาจมีการปรับฐานอย่างแรง


ทั้งนี้ จากที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยกองทัพในอดีตที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบที่ -8% โดยเฉลี่ย ซึ่งให้ผลตอบแทนแย่กว่าดัชนี MSCI Asia ไม่รวมญี่ปุ่นถึง 14%


อย่างไรก็ตาม ยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารและพลังงาน จากแนวโน้มการเติบโตที่ยังคงแข็งแกร่ง และยังมองว่าราคาหุ้นอยู่ในจุดที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จำกัดจากประเด็นทางการเมือง ในทางกลับกันยังคงระมัดระวังต่อกลุ่มอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ได้แก่ ค้าปลีก โรงแรม โรงพยาบาล  สนามบิน และสายการบิน ที่อาจชะลอตัวและอ่อนไหวต่อประเด็นทางการเมือง


ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหากประเมินจากท่าทีของกลุ่มทางการเมืองต่างๆ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปแต่ก็เห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มเห็นโอกาสที่ พรรคเพื่อไทย จะขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีมากขึ้น หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ผ่านไป


แต่การที่จะจับมือกับพรรคการเมืองใดบ้าง คงต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่ง ภาวะที่เริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ทิศทางของตลาดหุ้นชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่งเช่นกัน โดยภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ (ไม่มีการชุมนุมที่รุนแรงนอกสภา) เป็นไปได้ที่จะเห็นกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่กรอบ 1,480-1,545 จุด


สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเอลนีโญ ที่อาจเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจ แต่ก็อาจเป็นผลดีต่อหุ้นบางตัว ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 2/66 ที่จะทยอยประกาศ คาดจะเห็นการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสแรก 


บล.เอเซีย พลัส ระบุอีกว่า หลังการเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่สำเร็จ โดยผลการลงมติ เห็นชอบ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง (ขาดอีก 52 เสียงที่จะโหวตสนับสนุนเพื่อให้เสียงถึง 376 เสียง) ซึ่งจะนัดประชุมสภาอีกครั้งวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้มีการเปิดเผย 2 แนวทางที่จะดำเนินการ ได้แก่


1. เดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยโน้มน้าว สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาโหวตเลือกคุณพิธา เป็นนายกฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มากขึ้น


2. แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งเป็นการตัดอำนาจ ส.ว. ในการใช้สิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง และเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแยกแยะว่าใครเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน) ทั้งนี้ ในอดีตมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ


อย่างไรก็ตาม หากขับเคลื่อนจนถึงสุดทางแล้ว ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะทำตาม MOU ให้พรรคอันดับ 2 ซึ่งได้แก่ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งยังต้องอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม หรือ 8 พรรคที่เซ็น MOU ไว้ โดยทาง 8 พรรคร่วมจะนัดหารือกันวันนี้ 5 โมงเย็น


ส่วนผลกระทบในทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทรวงการคลัง ประเมินว่า กรณีจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยืดเยื้อไม่เกิน 6 เดือน คาดกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ราว 0.05%


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ