ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามาขายอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน ทั้งนี้การปรับตัวลดลงดังกล่าวกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ให้ผลการดำเนินงานอาจทรุดลง
โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยว่า ราคาหมูไทยปรับตัวลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งน่าจะอยู่ระดับที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ขาดทุนแล้วอิงจากสมมติฐานราคาข้าวโพดในประเทศที่ 12 บาท/กิโลกรัม และกากถั่วเหลืองที่ 22 บาทกก. โดยเราประเมินว่าอาจจะเกิดจาก 1) ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดการปล่อยของออกมาและอุปสงค์ที่ชะลอตัว, 2) สถานการณ์การลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน, 3) การขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่และอุปทานจากผู้ประกอบการรายกลางที่เริ่มเข้ามามากขึ้น
ทั้งนี้ บล.บัวหลวง มองว่า ราคาปัจจุบัน CPF และ BTG น่าจะมีขาดทุนเกิดขึ้นจากธุรกิจหมู ในขณะที่ TFG ยังกำไรจากต้นทุนที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามเรายังคงชอบ GFPT จากธุรกิจไก่ ที่หนุน
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกของราคาหมูหน้าฟาร์มที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเฉลี่ยที่ 77 บาทต่อกิโลกรัม สะท้อนสถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่คลี่คลายมากขึ้น
ทั้งนี้แนวโน้มกำไรที่ 2 ของปีนี้ เบื้องต้นคาดมีโอกาสชะลอลงหรือทรงตัวจากไตรมาส 1 ที่มีกำไร 392 ล้านบาท จากราคาขายเฉลี่ยหมูที่ลดลง ด้วยสถานการณ์หมูเถื่อนที่ยืดเยื้อกว่าคาด ส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบยังทรงตัวระดับสูง
อย่างไรก็ตาม บล.หยวนต้า ได้ปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2566-67 ของ BTG ลงอีก 27.2% และ 2.3% ตามลำดับ จากการปรับสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้น เพื่อสะท้อนผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่อ่อนแอ และการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ เราปรับไปใช้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2567 และปรับ พี/อี ขึ้นเป็น 15.3 เท่า เนื่องจากเรามองว่าแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มทำระดับต่ำสุดในครึ่งปีแรกแล้ว ส่งผลให้ราคาเป้าหมายถูกปรับขึ้นเป็น 25.50 บาท