ก.ล.ต.แจงไม่ได้ดำเนินการล่าช้า กรณี STARK ทำเต็มที่แล้ว แม้ผู้ต้องหาจะหนีออกนอกประเทศไปแล้ว พร้อมเดินหน้าขยายผลสอบการกระทำผิดทั้ง “ปั่นหุ้น-อินไซด์” และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ส่วนผู้สอบบัญชียังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม แจงอายัดทรัพย์สิน 3-4 บริษัท ป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ ไม่ได้ระงับการทำธุรกิจ
นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการและรักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย ถึงการดำเนินการกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) หลังวันที่ 6 ก.ค.66 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษร้องทุกข์บุคคลและนิติบุคคล 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯหลายมาตรา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการตัดสินใจ ใช้อำนาจตามมาตรา 267 ล่าช้า ในการขอให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.ออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์และห้ามผู้ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศ เพราะผู้ต้องหาหลายคนได้หนีออกนอกประเทศไปแล้ว และน่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปแล้วเช่นกัน
โดยนายธวัชชัยกล่าวว่า ก.ล.ต.มีแนวทางและขั้นตอนในการใช้มาตรการ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ เมื่อมีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดแล้ว จึงได้กล่าวโทษร้องทุกข์ และเสนอให้ บอร์ด ก.ล.ต.ใช้อำนาจตามมาตรา 267 ในการยึดอายัดทรัพย์และห้ามออกนอกประเทศตามมา ยืนยันว่าได้เร่งดำเนินการตามกระบวนการแล้ว
“เรื่องการใช้มาตรา 267 มีการตั้งคำถามว่า ทำไมเพิ่งมาใช้ ซึ่ง ก.ล.ต.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่มีมานานกว่า 30 ปี แต่เนื่องจากเรามีแนวทางที่วางไว้ ต้องเข้าเหตุตามกฎหมายที่บังคับใช้ มีการตั้งคณะทำงานดูแลการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องใช้เวลา และจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะความผิดอาญามีความรุนแรง”
นอกจากนี้ กำลังตรวจสอบและขยายผล หากพบพยานหลักฐานเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดรายใดเพิ่ม ก็จะมีการทยอยกล่าวโทษเพิ่มหลังจากนี้แน่นอน และจะมีการตรวจสอบไปยังฐานความผิดอื่นๆที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติม หากพบพฤติกรรมหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วมีใครนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งถือเป็นความผิดอยู่แล้ว กรณีการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ (ปั่นหุ้น) รวมถึงกรณีการซื้อขายบิ๊กลอตของผู้บริหารในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) ที่คนอื่นยังไม่ล่วงรู้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษไป 10 รายข้างต้นนั้น มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและกระบวนการ ของศาล
นายธวัชชัยยังตอบคำถามว่าทำไมถึงยังไม่ดำเนินการใดๆกับผู้ตรวจสอบบัญชีว่า ในชั้นแรกยังไม่ถึงตัวผู้สอบบัญชี แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบมีความมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะดำเนินการกล่าวโทษเหมือนผู้กระทำผิดรายอื่นๆ
ด้านนางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ ก.ล.ต.ได้สั่งห้ามผู้ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 15 วัน นั้น เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ตาม มาตรา 267 กรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นรีบด่วน เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยวาบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากนี้ สามารถขยายระยะเวลาได้ โดยต้องยื่นขอให้ศาลอาญาเป็นผู้พิจารณาและออกคำสั่ง ส่วนกรณีมีข่าวว่าผู้ต้องหาบางรายได้หนีออกประเทศไปแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวน ซึ่ง DSI มีกระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิด เช่น การขอส่งตัวคนร้ายข้ามแดน เป็นต้น
ส่วนการขอให้ยึดอายัดทรัพย์บุคคลและนิติบุคคลทั้ง 10 ราย ได้อายัดทรัพย์สินทุกประเภทรวมทั้งหุ้น TOA ของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ส่วนการอายัดทรัพย์สิน บริษัทในเครือ 3-4 บริษัท ยืนยันว่า การสั่งอายัดทรัพย์สิน บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) และบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์และเป็นการอายัดทรัพย์เพียงเท่านั้น ไม่ได้ระงับการประกอบธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจยังสามารถทำได้ปกติ เพราะบริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานและซื้อขายสินค้าได้
ขณะเดียวกัน ที่ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มอบหมายให้ น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้น STARK ว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีการทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยการออกหมายเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ รวมถึงออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้หลบหนี และออกหมายเรียกนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการบริษัทและในฐานะประธานบริหารฝ่ายการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหา รวมทั้งขอหมายค้นต่อศาล อาญา 15 จุด ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ได้พบ และยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการสอบสวนทั้งเอกสารการทำธุรกรรมต่างๆ.