เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จากความกังวลต่อประเด็นทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่าแสนล้านบาท
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.3 หมื่นล้าน และคาดว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศลดลง
หากประเด็นทางการเมืองมีความคลี่คลาย และจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ และมีการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เชื่อว่าเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติจะสามารถไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งจะสามารถทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจ คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมา และมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี และทำให้การบริโภคในประเทศเติบโตกลับมาได้ รวมถึงเชื่อว่าการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4/66 จากฐานที่ต่ำในปีก่อน
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3/66 มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3/66 อ่อนแอลง
ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4/66 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3/66 จากการอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐฯ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1/67 ประกอบกับมองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4/66 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนา ขณะที่ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ ได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้ว แต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมอง กนง.ของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในไตรมาส 3/66
ส่วนกลยุทธ์มองว่า “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ในหุ้นเมกะเทรนด์ เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT และมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields จากเงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี
ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพและการเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างๆ เริ่มจากนโยบายการเงินที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ถูกกระทบจากกรณี STARK ส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกปีนี้กว่าแสนล้านบาท กดดัชนีหุ้นไทย Underperform สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น
ขณะเดียวกันปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับขึ้นของดัชนี เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในอดีตจะเห็นว่า ปี 2564 อยู่ที่ 88,443 ล้านบาท และปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 71,226 ล้านบาท และปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 56,596 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/66 แกว่งผันผวน จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางที่ส่งสัญญาณชัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก ที่ปรับลง 9.9% จนระดับ Valuation ในมิติของ Market Earning Yield Gap ลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 12 ปี ซึ่งถือว่าไม่แพง
ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้ตัวแปรที่กำหนดทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยหากเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปด้วยความราบรื่นเชื่อว่าจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้ไหลกลับ แต่หากออกในทางตรงข้ามถือเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง โดยประเมินระดับเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1,480 จุด และ 1,542 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ “ทยอยสะสม” หุ้น เมื่อ SET Index อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,480 จุด โดยเลือกหุ้นพื้นฐานดีราคาลงลึก พร้อมกับมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว คือ BEM, JMT, SCGP, SCB, IVL, ERW, III.