จากเหตุการณ์เข้าเทรดวันแรกของบริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL เมื่อวันศุกร์ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนขวัญกับนักลงทุน ด้วยราคาเสนอขายไอพีโอที่ 3.30 บาท โดยขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 7.25 บาท หรือพุ่งขึ้นกว่า 119% ก่อนปรับลดลงแรงช่วงปิดการซื้อขายมาอยู่ที่ 2.20 บาท หรือลดลง 32.73% จากราคาจองซื้อ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการออกเตือนนักลงทุน เนื่องจากพบแรงซื้อในกลุ่มบุคคลด้วยมูลค่ากว่า 70% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในช่วงก่อนเปิดตลาด และพบแรงขายออกอย่างหนาแน่น
โดยล่าสุด บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ชี้แจงข้อเท็จจริงจากข่าวเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้น IPO ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อสาธารณะหลายแห่ง เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ซึ่งอาจทําให้นักลงทุน เกิดความเข้าใจผิด บริษัทขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามที่ปรากฏในข่าว ได้แก่ นายสุระ คณิตทวีกุล และนายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นั้นได้เข้ามาลงทุนในช่วงที่ บริษัทมีการลงทุนขยายธุรกิจตั้งแต่ในปี 2564 และบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้เข้ามาลงทุนในปี 2565
2. บริษัทยืนยันว่า ผู้ถือหุ้นตามข้อ 1 ทุกราย ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ตามที่เป็นข่าว และยังคงถือหุ้นจํานวนเท่าเดิม
3. บริษัทได้รับการยืนยันจากผู้ถือหุ้นตามข้อ 1 ทุกราย ว่าไม่ได้มีการขายหุ้นในวันเริ่มการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังถือหุ้นครบทั้งจํานวน
ทั้งนี้ บริษัทขอชี้แจงว่า บริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญในโครงสร้างการถือหุ้นและการประกอบธุรกิจ และบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจภายหลังการเข้าจดทะเบียน โดยจะนําเงินที่ได้รับจากการระดมทุน (IPO) ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทต่อไป
ด้านผู้บริหาร นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL เปิดเผยว่า มั่นใจอนาคตบริษัทฯ เติบโตแบบ High Growth เหตุหลังจากได้รับเงินระดมทุน บริษัทฯเริ่มเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนทันทีคือ ลงทุน EV Truck-เตรียมระบบ IT-สร้างสถานีชาร์จ- ขยายศูนย์คัดแยกสินค้าในต่างจังหวัด และเพิ่มจุดกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ มั่นใจปีนี้ รายได้โตเกิน 15% ตามแผน
โดยจะนําเงินที่ได้รับจากการระดมทุน (IPO) ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทต่อไป ขั้นแรกเราจะนำเงินไปซื้อยานยนต์ EV ตามแผนการดำเนินงานเพื่อประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้กว่า 50% ซึ่งช่วยผลักดันให้มีอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงลงทุนขยายศูนย์คัดแยกสินค้าในต่างจังหวัด ลงทุนไอที และเพิ่มจุดกระจายสินค้า รองรับดีมานด์ลูกค้า SMEs ในต่างจังหวัด เพิ่มฐานรายได้ ทำให้มั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตมากกว่า 15% ตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
ขณะที่เซียนหุ้นชื่อดัง นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี เปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในโลกการลงทุน ความเห็นมีมากกว่าความจริง หลายคนแสดงความเห็น โดยไม่แสวงหาข้อเท็จจริง สองวันนี้มีกระแสข่าวเรื่องหุ้น tpl ที่ทำให้นักลงทุนเสียหายมากมาย ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นผู้ถือหุ้นใน tpl ทำให้เข้าใจสิ่งที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น ผมอยากจะแสดงถึงความจริงที่ผมได้รู้ด้วยตนเอง เพื่อแสดงถึงความเป็นมาเป็นไปของการลงทุน tpl ในมุมของผม เหตุเกิดประมาณ 3 ปีที่แล้ว วันนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ tpl ต้องการหาเงินลงทุนจากนักลงทุน เพื่อลงทุนในระบบ logistic และ warehouse ผมพิจารณา ผลประกอบการ และมูลค่ามาร์เก็ตแคป เทียบเป็น pe ได้ประมาณ 7-8 เท่า ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ ทำให้ผมมีส่วนในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 10 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.70 ระหว่างนั้นบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ และเตรียมจดทะเบียนเข้าตลาด มีเหตุการณ์ 2 เรื่องที่เกิดขึ้น คือ เกิดสถานการณ์โควิด และผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ขายหุ้นให้บริษัทหนึ่งในตลาด ต่อมาบริษัทได้รับอนุญาตให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผมในฐานะผู้ถือหุ้นที่ถือมา 3 ปี ก็มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง วันที่เข้าตลาด ราคาหุ้นขึ้นอย่างมากในช่วงแรก และมีข่าวเตือนจากตลาดหลักทรัพย์ว่ามีการซื้อกระจุกตัว ทำให้นักลงทุนที่มีหุ้น มีการเทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ทำให้ราคาลดลงอย่างรุนแรง
ในวันนั้น โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีการซื้อหรือขายหุ้นออกมาเลย ทั้งหมดคือความจริงในส่วนที่ผมเกี่ยวพัน เรื่องทั้งหมด นักลงทุนและตัวผมเรียนรู้อะไรบ้าง
1. การหาข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่ควรทำสำหรับนักลงทุน
2. ความเห็น มีทั้งจริงและไม่จริงเสมอ
3. ผมเห็นด้วยกับมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ที่เตือนนักลงทุน
4. ผมเห็นด้วยถ้าตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการค้นหาความจริงต่อในเรื่องนี้
5. อย่าซื้อเพราะนักลงทุนบางคนมีชื่ออยู่ นักลงทุนควรประเมินมูลค่ากิจการด้วยตนเอง
6. การที่นักลงทุนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ในอดีต อนาคต เมื่อกิจการเปลี่ยนแปลง ความคิดของนักลงทุนก็อาจเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และบางส่วนเป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผมต่อเหตุการณ์ ผมคิดว่าบางส่วนน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนบ้างครับ