ถอดความสำเร็จ โรงหนังเมเจอร์ ลุยขาย ป๊อปคอร์น จนรายได้ทะลุพันล้าน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดความสำเร็จ โรงหนังเมเจอร์ ลุยขาย ป๊อปคอร์น จนรายได้ทะลุพันล้าน

Date Time: 24 มิ.ย. 2566 07:38 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ถอดความสำเร็จธุรกิจขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม ของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ที่ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เมื่ออภินันทนาการในโรงภาพยนตร์ กลายเป็น “แหล่งทำกำไรใหม่” ของบริษัท

Latest


ป๊อปคอร์นแสนอร่อยกับภาพยนตร์ มีความเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนาน ในยุคที่คนเริ่มสนใจเข้าโรงภาพยนตร์มากขึ้น ธุรกิจของป๊อปคอร์นก็เติบโตขึ้นไปพร้อมกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และต่อมาก็กลายเป็นอาหารทานเล่นยอดฮิตของกลุ่มผู้ชมจนถึงปัจจุบัน บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ผู้ประกอบการเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 70% ก็ดำเนินธุรกิจจำหน่ายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม (Concession) ด้วยเช่นกัน


บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสัดส่วนรายได้จาก 3 ช่องทางหลักประกอบด้วย 1.รายได้จากการขายตั๋ว 51% 2.รายได้จากการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม 27% และรายได้จากค่าโฆษณา 11% ส่วนที่เหลือมาจากรายได้ค่าเช่า รายได้จากธุรกิจโบลลิ่งและสเก็ตน้ำแข็ง และรายได้จากสื่อภาพยนตร์ ซึ่งวันนี้ #ThairathMoney จะพาไปเจาะลึกกับกลุ่มธุรกิจการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม ที่ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เมื่ออภินันทนาการในโรงภาพยนตร์ กลายเป็น “แหล่งทำกำไรใหม่” ของบริษัท


ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทรายงานผลประกอบการมีรายได้รวม 6,749.40 ล้านบาท โดยรายได้กว่า 27% มาจากการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 1,717 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ 786 ล้านบาท และกลับไปใกล้เคียงปีช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 2,097 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรมีระดับสูงถึง 57%


บริษัทมีสัดส่วนการขายป๊อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ (In-Cinema) อยู่ที่ราว 70% โดยให้ความสำคัญกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลาย ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องไปกับภาพยนตร์ที่เข้าฉาย และเน้นด้านการควบคุมคุณภาพและรสชาติด้วย


นอกจากนี้ บริษัทมีสัดส่วนการขายป๊อปคอร์นนอกโรงภาพยนตร์ (Out-Cinema) อยู่ที่ราว 30% โดยการเข้ามาของบริการส่งอาหาร (เดลิเวอรี่) เข้ามามีบทบาทอย่างมากในช่วงหลัง ซึ่งผู้บริโภคได้เข้ามาซื้อป๊อปคอร์นผ่านช่องทางการขายต่างๆ แบ่งเป็น บริการเดลิเวอรี่ 45% สาขาคีออส 30% อีคอมเมิร์ซ 20% และโมเดิร์นเทรด 6%


ซึ่งกลยุทธ์สำหรับธุรกิจป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มในปีนี้ของบริษัท คือ การเพิ่มจำนวนสาขาคีออสในการให้บริการ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าบริเวณใกล้เคียง และขยายความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เดลิเวอรี่ ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการออกรสชาติใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง


ล่าสุด บริษัทเปิดเผยถึงแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ ป๊อปคอร์นพร้อมทาน (Ready to eat) คาดว่าสามารถวางจำหน่ายได้ในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ได้ภายในไตรมาส 3/66 หรือต้นไตรมาสที่ 4/66 ภายใต้แบรนด์ “POPSTAR”


นางสาวฐิตาภัสร์ อิสราพรพัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR เปิดเผยภายในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) ว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,590 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มอยู่ที่ 433 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47% โดยบริษัทมีแผนการขายป๊อปคอร์นในรูปแบบของ Bucket Set ให้มีคอลเลกชันที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ดี รายได้จากการขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม สามารถฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งปัจจุบันฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ราว 95% เมื่อเทียบกับปี 2564 ก่อนโควิด-19 โดยเชื่อว่าสัดส่วนรายได้จะเติบโตขึ้นมาใกล้เคียงกับรายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ในอนาคต จากที่ผ่านมามีการเติบโตได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง


ด้านบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มองผลประกอบการของหุ้น MAJOR จะฟื้นตัวโดดเด่นในปี 2566 จากฐานที่ต่ำ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่บรรเทาความรุนแรงลง ขณะที่เราเริ่มเห็น Synergy จากการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ การจับมือกับ TKN ผลิตป๊อปคอร์นและเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น


ขณะเดียวกัน ประมาณการกำไรปกติปี 2566 ที่ 766 ล้านบาท เติบโต 198% จากปีก่อน เนื่องจากเมื่อเทียบปีก่อนในครึ่งปีแรกยังมีผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ปีนี้โรงภาพยนตร์กลับมาฉายปกติทุกโรงและมีภาพยนตร์ทั้งฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่รวมถึงหนังไทยที่รอฉายจำนวนมาก แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐานปี 2566 ที่ 20.25 บาท


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์