SAV บริษัทวิทยุการบินในกัมพูชา ประกาศเข้าไอพีโอตลาดหุ้นไทย รับธุรกิจการบินฟื้นตัว

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

SAV บริษัทวิทยุการบินในกัมพูชา ประกาศเข้าไอพีโอตลาดหุ้นไทย รับธุรกิจการบินฟื้นตัว

Date Time: 14 มิ.ย. 2566 15:28 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • - บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน-ชำระหนี้แบงก์ ลดต้นทุนดอกเบี้ย คาดเข้าเทรดกระดาน SET ภายในปีนี้
  • - มองอุตสาหกรรมการบินฟื้นหนุนรายได้กลับสู่ภาวะปกติ เชื่อปีหน้าจำนวนเที่ยวบินทะลุช่วงก่อนโควิด

Latest


อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวทั่วโลกจากหลายประเทศเริ่มปลดล็อกการเดินทาง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ส่งต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร และการใช้บริการโดยสารทางอากาศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศกัมพูชา ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจและการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค


บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV ผู้ให้บริการและโซลูชั่นด้านการบินแบบครบวงจร และเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา เตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเชื่อว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในกระดาน SET ได้ภายในปี 2566 นี้


นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เปิดเผยว่า บริษัทเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เป็นบริษัท โฮลดิ้ง ซึ่งมีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร ผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่ง “SAV” ถือหุ้นใน CATS 100%


โดย CATS เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาระยะเว ลารวม 49 ปี (สิ้นสุดปี 2594) ในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา โดยปัจจุบัน กัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียฐ สนามบินนานาชาติสีหนุวิลล์ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง


รายได้หลักของ CATS มาจากบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ 1. รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ 2. เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ และ 3. รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) ดังนั้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและจีน จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้ของบริษัทให้เติบโตได้ในอนาคต


ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 1,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 724 ล้านบาทในปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 199.5 ล้านบาท ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 มีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโต SAV มีผลการดำเนินงานที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เชื่อว่ารายได้จากเที่ยวบินโดยรวมในปีนี้จะสามารถฟื้นตัวได้เป็นสัดส่วน 80% ของรายได้ในช่วงก่อนโควิด และจะเติบโตกว่าช่วงก่อนโควิดในปี 2567


สำหรับ SAV มีจุดเด่นหลายประการ คือ 1. เป็นผู้ให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร เพียงรายเดียวในกัมพูชา 2. มีรายได้ประจำทั้งจากทุกเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงในประเทศกัมพูชา 3. มีรายได้ประจำจากทุกเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเวียดนามซึ่งเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะจากการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างสูง 4. SAV มีระยะเวลาสัมปทานอีก 29 ปีและสามารถต่อระยะเวลาสัมปทานได้อีก 5. ธุรกิจวิทยุการบิน ลงทุนต่ำและให้ผลตอบแทนสูง และไม่มีคู่แข่ง 6. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาและอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูง


อย่างไรก็ดี ประเด็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจของบริษัท มองว่ามีเพียงเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ อย่างเช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งมองว่าต่อจากนี้ไปเหตุการณ์แบบนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก และมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกได้ ส่วนค่าใช้จ่ายของบริษัทมีเพียงต้นทุนคงที่เช่น ค่าพนักงาน คิดเป็น 10-20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลกัมพูชาตามสัมปทาน ซึ่งมีกำหนดอัตราไว้ชัดเจน หากมีรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ลดลงเช่นกัน โดยในอดีตที่ผ่านมาบริษัทสามารถมีอัตรากำไรขั้นต้นได้ระดับ 50%


ด้านนายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SAV ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้น ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 35.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน (หุ้นใหม่) จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท และหุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (หุ้นเก่า) จำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ โดยมูลค่าที่ตราไว้ เท่ากับ 0.50 บาทต่อหุ้น


บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้บริษัทและบริษัทในกลุ่ม มีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น และทำให้มีอัตราส่วนทางการเงินโดยเฉพาะหนี้สินต่อทุนต่ำลง ส่งผลให้ความสามารถในการลงทุนมากขึ้นเพื่อรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต


นอกจากนี้ SAV ยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเมื่อบวกกับความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งแล้ว เชื่อว่า SAV จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวอย่างแน่นอน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์