การประกอบธุรกิจของไอทีวีว่าเป็นสื่อหรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ แต่ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไอทีวีกับ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) ยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยจากการเก็บข้อมูลของ #ThairathMoney พบว่า ใน หมายเหตุประกอบงบการเงิน รายงานประจำปี 2565 พบว่า ITV ได้มีการว่าจ้าง อินทัช ในการให้บริการด้านกฎหมายและภาษี รวมถึงงานทั่วไปปีละ 6.4 ล้านบาท
โดยรายงานประจำปี 2565 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อที่ 4 รายการที่เกิดขึ้นและยอดคงเหลือ กับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน พบว่า ข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ระบุมีรายการที่เกิดขึ้นและยอดคงเหลือกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน กลุ่มบริษัทถูกควบคุมโดย บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) (“อินทัช”) บริษัทใหญ่ดังกล่าวถือหุ้นในบริษัทร้อยละ 52.92 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จํานวนหุ้นที่เหลือร้อยละ 47.08 ถือโดยบุคคลทั่วไป
รายการที่กลุ่มบริษัทมีกับบริษัทในกลุ่มอินทัช เช่น บริษัทย่อย กิจการที่ควบคุมร่วมกัน บริษัทร่วม ผู้บริหารและกิจการที่เกี่ยวข้องกันของกลุ่มอินทัช จะแสดงเป็นรายการกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน
โดยรายการที่สำคัญสำหรับสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 กับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน พบว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายกิจการที่อยู่ภายใต้การควบคุมเดียวกัน ได้แก่ ค่าตอบแทนกรรมการ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน ซึ่งจ่ายให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
นอกจากนี้ ยังมีภาระผูกพันและสัญญาสําคัญที่ทํากับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภาระผูกพันที่สําคัญอื่นๆ ที่มีต่อกิจการที่เกี่ยวข้องกันมีดังนี้
1. บริษัทได้ทําสัญญากับบริษัทใหญ่ โดยบริษัทใหญ่มีภาระผูกพันในการให้บริการด้านกฎหมาย การกํากับดูแลกิจการ การบัญชี การเงินและภาษีอากร การบริหารงานทั่วไป การกําหนดกลยุทธ์และแผนการดําเนินงานให้เหมาะสมกับสถานภาพปัจจุบันของบริษัท โดยสัญญามีกําหนด 3 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และต่ออายุได้อีกคราวละ 1 ปี คู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยการแจ้งยกเลิกล่วงหน้าหรือตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บริษัทมีภาระผูกพันต่อบริษัทใหญ่ที่จะต้องชําระค่าบริการดังกล่าวตามสัญญา เป็นจํานวนเงินรวม 6.42 ล้านบาทต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564: 2.57 ล้านบาทต่อปี)
2. บริษัทได้ทําสัญญากับบริษัทใหญ่ โดยบริษัทใหญ่ตกลงให้บริษัทใช้บริการพื้นที่สํานักงานของบริษัทใหญ่เป็นสถานประกอบการ และชําระค่าบริการพื้นที่ โดยสัญญานี้มีผลบังคับใช้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกหรือมีเหตุพ้นวิสัยอื่นๆ โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงร่วมกันและทําเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีภาระผูกพันต่อบริษัทใหญ่ที่จะต้องชําระค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสัญญา เป็นจํานวนเงินรวม 0.2 ล้านบาทต่อปี ในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564: 0.4 ล้านบาทต่อปี)
ผู้ถือหุ้นฟ้องขอเปิดคลิปได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทมหาชน ให้ความเห็นว่า บริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) หรือ ITV ได้ถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว แต่ยังคงมีสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์
ประเด็นบันทึกการประชุมและเทปบันทึกเสียงที่ถูกเผยแพร่มีความไม่สอดคล้องกัน แม้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริง แต่สามารถตรวจสอบหลักฐานการประชุมย้อนหลังได้ จากบริษัทต้องมีการเก็บบันทึกเสียงไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม ตามข้อกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
หากบันทึกการประชุมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีการลงมติโดยมิชอบ หรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง กฎหมายก็มีการเปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการฟ้องร้องได้ แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นตามข่าว ไม่ถือเป็นวาระการประชุมเพื่อลงมติที่มีความสำคัญเพื่อแจ้งต่อนายทะเบียน
ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นแค่การสอบถามจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุม ซึ่งตามระเบียบในการประชุมครั้งถัดไป จะมีการนำวาระการประชุมครั้งก่อน มาขอการรับรองผลการประชุมจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง หากผู้ถือหุ้นมีความเห็นว่ามีการจดบันทึกของการประชุมครั้งก่อนหน้าไม่ถูกต้อง หรือมีบันทึกการประชุมมีความแตกต่างจากเทปบันทึกเสียง จะนำไปสู่การร้องขอเพื่อแก้ไขข้อความให้ถูกต้องได้
อย่างไรก็ดี การดำเนินการที่เกิดขึ้น อยู่นอกเหนือการควบคุมกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องอ้างอิงตามกฎหมายมหาชน หรือ พระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์.