ไขข้อสงสัย แก้บันทึกมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผิดกฎหมายข้อไหน โทษเป็นอย่างไรบ้าง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไขข้อสงสัย แก้บันทึกมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผิดกฎหมายข้อไหน โทษเป็นอย่างไรบ้าง

Date Time: 12 มิ.ย. 2566 17:59 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ประเด็น #คืนชีพITV กลับมาร้อนแรงในโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังมีข้อมูลขัดแย้งกับเอกสารบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ที่ถูกเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแน่นอนว่าหาก “รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ” จะส่งผลอย่างไรบ้าง? และใครต้องรับผิดชอบ?

ในวันที่ ประเด็น #คืนชีพITV กลับมาร้อนแรงในโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังจากรายการข่าวสามมิติ ได้มีการเปิดเผยหลักฐานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของหลักฐานที่หักมุมจากกรณีการกล่าวอ้างว่า “บริษัท ไอทีวี” ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่

โดยในคลิปวิดีโอการประชุมที่มีทั้งภาพและเสียง นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ตอบคำถาม นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมด้วยตนเอง ถึงประเด็นซักถามที่ว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” โดยในคลิปวิดีโอ ทางด้านประธานฯ ได้มีการตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และรอผลให้คดีความสิ้นสุดก่อน” 

โดยขัดแย้งกับเอกสารบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ในวันดังกล่าว ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” 

จากกรณีข้างต้น สังคมได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงข้อเท็จจริงว่าและคำถามที่ว่า ทำไม? เอกสารบันทึกการประชุมที่ได้รับนั้น ถึงไม่ตรงกับคำตอบของประธานฯ ในคลิปวิดีโอที่มีการบันทึกในที่ประชุม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหาคำตอบ

อย่างไรก็ตามในโลกของการลงทุน ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามในด้านข้อกฎหมาย ว่าหากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำ “รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ” จะส่งผลอย่างไรบ้าง? และใครต้องรับผิดชอบ? วันนี้ “Thairath Money” จึงชวนทุกคนมาค้นหาคำตอบนั้นไปด้วยกัน

โดยกรณี หากพบว่า บริษัทมหาชนทำ “รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ” จริงๆ พบว่าจะมีความผิด และอาจมีโทษทางอาญา ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งยังผิดพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ตามมาตราดังต่อไปนี้ 

มาตรา ๙๔ กรรมการต้องรับผิดร่วมกันเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วย

(๑) การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความอันควรต้องแจ้งเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในการเสนอขายหุ้น หุ้นกู้หรือตราสารการเงินของบริษัท

(๒) การแสดงข้อความหรือลงรายการในเอกสารที่ยื่นต่อนายทะเบียนโดยข้อความหรือรายการนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ตรงกับบัญชี ทะเบียน หรือเอกสารของบริษัท

(๓) การจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นหรือรายงานการประชุมคณะกรรมการอันเป็นเท็จ

มาตรา ๒๑๖ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของบริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท หรือ

(๒) ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 312 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า

“กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลดังกล่าว หรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลดังกล่าว

(๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น หรือ

(๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใดๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท”

ขณะเดียวกันทางด้านนายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ได้มีการเปิดเผยว่า กรณีประเด็นในเรื่องของการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ที่เป็นบริษัทลูกของ INTUCH นั้น ในเบื้องต้นทางบริษัทได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ส่วนในรายละเอียดนั้นก็ต้องมีพิจารณาว่า จะมีการเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับไหนหรือไม่ ซึ่งตามกระแสข่าวมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน กับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มาตรา 312  

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของ ก.ล.ต.นั้น ในกรณีปกติ จะพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ เป็นหลัก โดยปกติในด้านการเปิดเผยข้อมูล ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้นักลงทุนรับทราบ โดยตลาดหลักทรัพย์จะเป็นด่านแรกในการกลั่นกรองข้อมูลที่จะเผยแพร่ออกมา ส่วนหากมีการเผยแพร่ออกมาแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกตัดสินว่าจะเป็นข้อเท็จจริง จะเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง 

ซึ่งก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า สมรภูมิเกมนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงของการประชุมในครั้งนี้คืออะไร หากพยานหลักฐานถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบิดเบือนความเป็นจริง ใครจะเข้าข่ายมีความผิดบ้าง? ซึ่งก็คงต้องรอให้หลายๆ ฝ่ายได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหลักฐานที่มีอยู่ในมือให้เสร็จสิ้น และเมื่อนั้นเอง “Truth is immortal” ประเด็นต่างๆ ก็จะคลี่คลาย และเราอาจจะได้ทราบถึงความจริงที่อาจจะถูกเปิดเผยในเร็ววันก็เป็นได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ