สมาคมตราสารหนี้ ชี้ปัญหา STARK ทำนักลงทุนไม่กล้าจองหุ้นกู้ บริษัทขนาดกลาง-เล็ก

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมาคมตราสารหนี้ ชี้ปัญหา STARK ทำนักลงทุนไม่กล้าจองหุ้นกู้ บริษัทขนาดกลาง-เล็ก

Date Time: 9 มิ.ย. 2566 18:48 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผยประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของ STARK กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อหุ้นกู้ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งหรือมีเครดิตเรตติ้งต่ำ จากมียอดจองซื้อหุ้นกู้ไม่คึกคักเมื่อเทียบกับอดีต แต่ไม่กระทบบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ยันยังได้รับการตอบรับที่ดี

กรณีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดตราสารหนี้ไทย จากความกังวลใจของนักลงทุนต่อหุ้นกู้ของบริษัทขนาดกลางและบริษัทขาดเล็ก ที่ต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สะท้อนจากความคึกคักการจองซื้อที่ลดลง ขณะที่เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของนักลงทุน ที่ต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นประวัติของบริษัท การดำเนินธุรกิจ และที่มาของผู้บริหาร นอกจากการดู “เครดิตเรตติ้ง” ที่สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้


นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ การออกหุ้นกู้จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งมองว่าประเด็นการผิดนัดชำระหนี้จากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุน และบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งระดับสูงสะท้อนว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง และมีความสามารถในการชำระหนี้ให้นักลงทุนได้ จากเกณฑ์การให้เครดิตเรตติ้งของบริษัทจัดอันดับที่พิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทเป็นหลัก


อย่างไรก็ดี การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ STARK ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งหรือมีเครดิตเรตติ้งต่ำ จากมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากนักลงทุนให้ความสนใจลดลง จะเห็นได้จากมียอดจองซื้อหุ้นกู้ไม่คึกคักเมื่อเทียบกับอดีต


ทั้งนี้ เครดิตเรตติ้งของหุ้นกู้ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยตัดสินใจลงทุนอยู่ แม้ว่าเหตุการณ์ล่าสุดจะเห็นว่า เคสของ STARK ก่อนหน้านี้ก็มีเครดิตเรตติ้งเป็น “Investment Grade” แต่การจัดอันดับไม่ได้เป็นส่วนทั้งหมดของการพิจารณาลงทุน เพราะไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาของการบริหารงาน ความตรงไปตรงมา และธรรมาภิบาลของบริษัท เพราะฉะนั้น นอกจากจะดูตัวบริษัท และฐานะการเงิน รายได้ กำไร และภาพรวมอุตสาหกรรม ที่เห็นได้จากงบการเงินแล้ว ยังต้องพิจารณาจากประวัติของบริษัท การดำเนินธุรกิจ และที่มาของผู้บริหารเพิ่มเติมด้วย


“สิ่งสำคัญคือหากเราจะปล่อยกู้ให้ใคร ถ้าเขาเป็นบริษัทที่เพิ่งจะตั้งมาไม่กี่ปี และ Track record ยังไม่ได้ยาวนาน อันนี้เราก็อาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น” นางสาวอริยา กล่าว


นางสาวอริยา กล่าวอีกว่า การออกหุ้นกู้ ยังเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินทางเลือกหนึ่งที่มีความน่าสนใจ จากเป็นทางเลือกของผู้ออกหุ้นกู้ในการระดมทุน และเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนได้จากดอกเบี้ยในอัตราคงที่ แม้ในระยะสั้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทขนาดเล็ก-กลาง จะถูกกระทบได้บ้างจากเหตุการณ์ของ STARK ที่เป็นปัจจัยเฉพาะตัว ซึ่งต้องพิจารณาเป็น case by case


สำหรับในระยะยาว หากมีมาตรการที่จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เชื่อว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ และหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องกลับไปทบทวนว่ามีช่องโหว่ใดบ้างในตลาดที่จะต้องมีการจัดการแก้ไข เพราะมีบริษัทที่มีข้อสงสัยว่าการดำเนินงานอาจมีความผิดปกติ หรือมีงบการเงินที่ผิดปกติ ทำไมถึงสามารถออกหลักทรัพย์มาเสนอขายให้กับนักลงทุนได้ โดยมีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนและเคยอยู่ใน SET100 ซึ่งต้องร่วมกันพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของนักลงทุน ซึ่งสิ่งสำคัญของการลงทุน คือ ต้องกระจายความเสี่ยง ร่วมกับการพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ จากตอนนี้จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่คุ้มค่าต่อการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งกระบวนการติดตามบังคับให้ชำระหนี้ตามกฎหมาย ต้องใช้เวลายาวนานมาก โดยแนะนำให้ลงทุนในบริษัทที่นักลงทุนมีความมั่นใจ และกระจายความเสี่ยงไปในหลายบริษัท ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้จะไม่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินมากนัก รวมถึงหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่ยังไม่มีความมั่นใจด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ