ถอดแนวคิด ชูเกียรติ รุจนพรพจี ใช้พอร์ตลงทุนเพื่อสร้างพาร์ตเนอร์ “อย่าตกใจถ้าเห็น SABUY เข้าถือหุ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดแนวคิด ชูเกียรติ รุจนพรพจี ใช้พอร์ตลงทุนเพื่อสร้างพาร์ตเนอร์ “อย่าตกใจถ้าเห็น SABUY เข้าถือหุ้น

Date Time: 6 มิ.ย. 2566 09:35 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • - สบาย เทคโนโลยี หรือ SABUY มีการเติบโตมากกว่า 10 เท่านับจากไอพีโอถึงปัจจุบัน
  • - บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้ 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ พร้อมเดินหน้าดันบริษัทลูกเข้าตลาดหลักทรัพย์
  • - ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าลงทุนและเป็นบริษัทลูกมากกว่า 52 บริษัท
  • - ยอมรับว่า หาโอกาสเข้าลงทุนในซิงเกอร์ และอาจเข้าถือหุ้นมากกว่า 15%

Latest


บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเติบโตอย่างมากด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปที่เพิ่มขึ้นจากช่วงไอพีโอมากกว่า 10 เท่าตัว และในขณะเดียวกันยังใช้กลยุทธ์ เข้าถือหุ้นในบริษัทที่มองเห็นโอกาสการเติบโตเพื่อหวังจะสร้างความร่วมมือและเป็นพาร์ตเนอร์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเปิดเผยแผนการเข้าลงทุนใน SINGER ว่าบริษัทยังรอโอกาสเข้าซื้อหุ้นอยู่และมีความเป็นไปได้ว่าอยากเข้าถือมากกว่า 15% ที่เคยขอมติผู้ถือหุ้นไว้

 

โดยนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ Thairath Money ว่า การเติบโตของ SABUY นั้นมีอย่างต่อเนื่อง นับจากวันที่บริษัทเข้าไอพีโอ มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 2,512.50 ล้านบาท โดยปัจจุบันการเติบโตของบริษัท มีมูลค่าตามมาร์เก็ตแคป ที่  2.4 หมื่นล้านบาท  เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว ซึ่งแผนธุรกิจที่เราพูดไว้ในวันไอพีโอกับวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแต่เวลานั้น หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่าเราจะเติบโตอย่างไร

 

“แผนการสร้างการเติบโตกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ในวันไอพีโอกับวันนี้ ที่ไม่ได้ต่างจากเดิม แต่วันนั้น คนไม่เชื่อว่าสิ่งที่เราทำ และหลายคนตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราจะทำจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่วันนี้ก็เริ่มเห็นภาพมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

การทำธุรกิจของเรา ดีเอ็นเอของ SABUY เราเป็นเหมือนบริษัททรานฟอร์เมชัน ที่แตกต่างจากบริษัทที่ปรึกษาทั่วไป ที่พวกเขาจะดูด้านแผนการปรับกลยุทธ์และบอกวิธีการแต่ไม่ส่งคนเข้ามาช่วยปรับ แต่ SABUY นั้นแตกต่าง เราไม่ได้เป็นแค่ที่ปรึกษาแต่เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ โดยโจทย์สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเรามีอีโคซิสเตมที่เติมเต็มการใช้ชีวิต และการนำพาร์ตเนอร์เข้ามาจะช่วยให้ลูกค้ามีบริการที่ดีมากขึ้น

 

ปัจจุบัน SABUY ดำเนินธุรกิจอยู่ 5 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่เราโฟกัสประกอบด้วย 1 คอนเน็ก ช่องทางที่ใช้อยู่เชื่อมต่อธุรกิจกับลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 2 บริหารจัดการตัวกลาง มันสมอง ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ 3 ระบบชำระราคา ที่มีช่องทางการเติบโต จากการที่ธนาคารพาณิชย์ เลือกที่จะทำบางบริการ และไม่ทำบางบริการ เรามองบางโอกาสที่น่าทำ มีช่องว่างอยู่ 4 การปล่อยสินเชื่อ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เปิดโอกาสให้ทุกคน หรือคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุน 5 ธุรกิจด้านการบริหารจัดการ

 

              โดยปัจจุบันเรามีบริษัทลูก 52 บริษัท อย่าง บริษัท สบาย สปีด จำกัด (SABUY SPEED) ที่จะผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต บริษัท พลัสเทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH  และล่าสุดเข้าลงทุนใน บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AS ผู้ประกอบธุรกิจเกมออนไลน์ชื่อดัง เพื่อเติมเต็มพอร์ตลงทุนอีกด้วย

 “โครงสร้างองค์กรของ SABUYจะเป็นเหมือน สตาร์ทอัพ แต่ใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงจะเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ โดยจุดอ่อนของธุรกิจใหญ่ คือ มีระเบียบที่เยอะและใหญ่เกินที่จะปรับ เรามีความคล่องตัว  เราเป็นโมเดลใหม่ที่บอกตัวเองว่าจะทำสตาร์ทอัพ”

วิธีการเลือกดีลเข้าลงทุน เราจะเลือกว่า เขามีช่องทางกับฐานลูกค้าที่ต้องการไหม ฐานลูกค้าที่เขามีอยู่ทำให้เกิดอิมแพคกับลูกค้าเดิม ธุรกิจนั้นมีปัญหาหนี้สินหรือไม่ ระบบบริษัทของเขาทรานส์ฟอร์มได้หรือไม่ และถ้าช่วยเขาแล้วถูกลงได้ไหม โดยโมเดลของเรา คือ กินแบ่ง กระจายโอกาสที่เขามาใช้ช่องทางของเรา และระบบเทคโนโลยีของบริษัท เป็นโมเดล

 ผลตอบแทนต้องทวีคูณ

ในด้านผลตอบแทนการลงทุน เรามองในด้านการใช้เครือข่ายที่พันธมิตรหรือบริษัทลูกที่นำลูกค้าของตัวเองมาใช้แพลตฟอร์มของเรา ซึ่งเราเหมือนกับนักช็อปทรัพยากรที่คุ้มค่า เราไม่ได้ใช้สินทรัพย์นั้นแค่หน้าเดียว เราใช้เต็มที่ ดังนั้นการลงทุนของเราผลตอบแทนจะไม่ใช่แค่คูณสอง แต่ต้องคูณห้า คูณหก

 

พอร์ตลงทุนเป็นจุดเริ่มต้นหาพาร์ตเนอร์

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ คุณชูเกียรติ ได้เผยว่า SABUY มีพอร์ตลงทุนของบริษัทด้วย โดยตอนนี้มีมูลค่าพอร์ต 1–2 พันล้านบาท ไม่ได้ใหญ่เทียบกับบริษัทระดับ 2 หมื่นล้านบาท ซี่ง DNA ของเรา คือ ซื้อมาขายไป โดยการเข้าไปลงทุนเราอยากให้เขาเป็นพาร์ตเนอร์ในอนาคตจึงเข้าลงทุน

 “การเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจปัญหาที่หลายบริษัทเจอ คือ การอยู่ดีๆไปเคาะประตูกับบริษัทใหญ่ บางทีเขาไม่คุยหรอก แต่เมื่อคุณถือหุ้นเขาจะเปลี่ยน เขาจะเริ่มกังวลก็เริ่มคุยกับเรา”

 ทั้งนี้ในการลงทุนในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ SINGER ปัจจุบันเราถืออยู่ 4.9 ล้านหุ้น ไม่ได้มีปริมาณหุ้นที่เยอะ ในวันนี้ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้น และไม่ได้ชอร์ตเซลด้วย โดยนโยบายการลงทุนเราได้ขอมติผู้ถือหุ้นในการเข้าซื้อหุ้น SINGER ไว้ที่ 15% ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจเข้าซื้อมากกว่า 15%


“ในการลงทุนในซิงเกอร์ เราได้ขอผู้ถือหุ้นไว้ว่าจะลงทุนในสัดส่วน  15% แต่หากมีโอกาสลงทุนเราอาจขอมติบอร์ดซื้อเพิ่มอีก 9% ก็เป็นไปได้หากราคาลดลงมามากๆ”

 

 ซึ่งที่ผ่านมา ซิงเกอร์ มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก โดยที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดคุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของซิงเกอร์ เคยติดต่อไปแต่เขาแจ้งว่ายังไม่สะดวก เราก็รอวันที่คุณสะดวก ในความคิดของเรามองว่า ธุรกิจซิงเกอร์ มีโมเดลที่ดีใกล้เคียงกับสบาย และจะมีอนาคตที่ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ตอนนี้มีปัญหาอยู่ โดยที่ผ่านมาผมพูดชัดว่า ผมมีวิธีที่ช่วยคุณนะ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา คุณชูเกียรติ เปิดเผยปิดท้ายว่า ผมอาจจะมีท่าทางที่แข็งกร้าว ไม่ใช่ว่าผมคือคนไม่ดีนะ แต่เราพูดชัดว่าเราต้องการอะไร และต้องการสื่อสารตรงไปตรงมา ซึ่งในอนาคตถ้าเห็น SABUY เข้าไปถือหุ้นบริษัทไหนก็ไม่ควรตกใจ เมื่อเราเข้าไปเพื่อช่วยกันพัฒนาให้บริษัทดีขึ้น และช่วยกันหาแนวทางเติบโต เมื่อบริษัทเติบโตทุกคนก็ได้ประโยชน์ หุ้นใหญ่ก็ได้ประโยชน์ ไม่ควรกังวลใจ 

 

และอยากฝากถึงผู้ถือหุ้นของ SABUY ว่า สิ่งที่เราทำเพื่อผู้ถือหุ้นของเรา ที่ผ่านมาการสื่อสารเราดูดุดัน แต่เราชัดเจน เราทำธุรกิจและการบริหารจัดการลงทุน สร้างรายได้และกำไรในระยะยาว มุมมองของเราอยากให้ SABUY ใน 5 ปี เราต้องการเป็นไลฟ์สไตล์ คอมพานี ที่โฟกัสใน 5 หัวข้อ งาน เงิน สุขภาพ สันทนาการ ความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ใน 30% ของเป้าหมายในใจของเรา เป็นแค่จุดเริ่มต้น

 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์