การขนส่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก ธุรกิจการขนส่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังปลายทางที่ต่างกัน ซึ่งธุรกิจนี้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศได้
ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้หลังจากมีการเปิดประเทศแล้วจะทำให้ผู้บริโภคกลับไปซื้อสินค้าหน้าร้านมากขึ้น หลังผู้ประกอบการหลายรายเน้นลงมาทำธุรกิจค้าขายออนไลน์มากขึ้น
ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้รวมกิจการเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ทำให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการผสานความร่วมมือตามแผนงาน 5 ส่วนที่วางไว้ ได้แก่ การประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิม, สร้างมูลค่าเพิ่มแก่บริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ, เชื่อมต่อการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อโดยนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในอาเซียน, ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และขยายขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องไปยังธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ หลังจากรวมกิจการแล้วในช่วงที่ผ่านมาได้ผสานความร่วมมือกันเพื่อลดต้นทุนแล้วบางส่วน ได้แก่ การรวมคำสั่งซื้อสินค้าและบริการ เช่น การใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ซื้อประกันภัย เป็นต้น การรวมฟลีตรถและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตซึ่งจะมีผลต่อการลดต้นทุนทางการเงิน
บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้รวม 3,500-5,000 ล้านบาท ผลักดันเป้าหมายรายได้ปีนี้ 30,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายรายได้ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2569) เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี ตามการเติบโตปกติของธุรกิจ และการหาโอกาสเติบโตจากภายนอก โดยบริษัทคาดหวังปิดดีล M&A ได้เพิ่มเติมได้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นดีลที่มีมูลค่าหลักพันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัททั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจขนส่งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในไทยและอาเซียน ล่าสุดเตรียมเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม จำกัด หรือ SCG Inter Vietnam จากบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามแผนงานที่วางไว้ โดยปัจจุบัน SCG Inter Vietnam เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในประเทศเวียดนาม มีลูกค้าหลักเป็นธุรกิจในเครือ SCG และให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป คาดว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 และคาดว่าในช่วงแรกจะรับรู้รายได้จาก SCG Inter Vietnam 800-1,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ได้วางแผนร่วมมือกับ Transimex Corporation ซึ่งเป็น พาร์ตเนอร์ท้องถิ่นที่เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในประเทศเวียดนามเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี บริษัทตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนรายได้และกำไรสุทธิจากต่างประเทศ (Oversea) อยู่ที่ระดับ 41% ในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่ 11% รวมทั้งหมด 9 ประเทศ เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมองว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีโอกาสในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะจากศักยภาพการเติบโตของประเทศขนาดใหญ่
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า บริษัทวางแผนขยายธุรกิจเดิมและรุกให้บริการใหม่ๆ ผ่านการร่วมทุนและทำ M&A โดยเตรียมนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระดับภูมิภาคและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด บริษัทได้ขยายธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ไปยังโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรและจัดส่งแก่ดีลเลอร์รถทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปีหน้าและรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
ด้าน ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขออนุมัติวงเงินออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 15,000 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะออกหุ้นกู้แบบการเสนอขายในกรณีทั่วไป (PO) จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และรองรับในการทำดีล M&A ประกอบกับนำไปรีไฟแนนซ์เพื่อลดต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ย
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอพิจารณาการจัดอันดับเครดิตใหม่อีกครั้งจาก ทริส เรตติ้ง หลังจากการควบรวมสำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการจัดอันดับที่ดีขึ้นจากเดิมที่ BB+ ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงด้วย