ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 23 พ.ค.66 ปิดที่ 1,534.84 จุด บวก 5.60 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 49,772.13 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,852.84 ล้านบาท ขณะที่สถาบันและกองทุนในประเทศซื้อสุทธิ 4,305.42 ล้านบาท
“กำพล อดิเรกสมบัติ” ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ว่า มีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง 2 ประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาคือ การจัดตั้งรัฐบาลของไทยและการจัดการเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นต่อตลาด แต่มาพร้อมโอกาสการลงทุนระยะยาว
โดยการจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจใช้เวลานานกว่าปกติ ด้วยเงื่อนไขการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป จากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องประชุมสภาครั้งแรกภายในวันที่ 28 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาสแรกปีนี้เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โตได้ 2.7% (ฟื้นจากไตรมาส 4/65 ที่โตได้ 1.4%) หาก พิจารณาการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 กลับมาขยายตัวได้ 1.9% (จากไตรมาส 4/65 ที่หดตัว -1.1%) ได้แรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคลดลงอย่างมาก
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ยังมีรายละเอียดไม่มากนัก อาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ามาตรการกระตุ้นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงอยู่แล้ว รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 87% ของ GDP น่าจะเป็นข้อจำกัดทำให้ภาคการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้
ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยหลุดพ้นภาวะ earning recession หรือภาวะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสได้แล้ว เชื่อว่าดัชนีระดับปัจจุบันรับรู้ความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองไปบ้างแล้ว จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี ทั้ง RMF และ SSF
รวมทั้งแนะนำให้สะสมหุ้นท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล เนื่องจากผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาต่อกำไรต่อหุ้น forward P/E ratio ของหุ้นไทย ลดลงจากระดับ 15.4 เท่า ก่อนการเลือกตั้งลงมาที่ 15.0 เท่า!!
อินเด็กซ์ 51