2 หุ้นอาหารสัตว์อาการหนัก นักลงทุนเทขาย ITC-AAI หวั่นต้นทุนผลิตพุ่งกดดันกำไร

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

2 หุ้นอาหารสัตว์อาการหนัก นักลงทุนเทขาย ITC-AAI หวั่นต้นทุนผลิตพุ่งกดดันกำไร

Date Time: 2 พ.ค. 2566 14:33 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • หุ้น ITC ปรับตัวลดลงมาเหลือ 18.90 บาทต่อหุ้น ขณะที่หุ้น AAI ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชี้ หวั่นต้นทุนผลิตพุ่งกดดันกำไร

Latest


ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มอาหารสัตว์ปรับตัวลดลงอย่างมาก นำโดยหุ้นของ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น หรือ ITC ปรับตัวลดลงมาเหลือ 18.90 บาทต่อหุ้น ลดลงจากราคาเสนอขายไอพีโอที่ 32.00 บาทต่อหุ้น หรือลดลงกว่า 40% ขณะที่หุ้นของ บม.เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AAI ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น ลดลงจากราคาเสนอขายไอพีโอที่ 5.55 บาทต่อหุ้น หรือปรับตัวลงราว 17%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ ให้ความเห็นในบทวิเคราะห์ว่า สำหรับหุ้นของ ITC ระยะสั้น ไม่มีปัจจัยบวกหนุน แม้คาดกลับมาเติบโตในปี 2567 โดยมีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย โดยหลักจากอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ต่ำกว่าคาดมาก โดยได้มีการปรับประมาณกำไรสุทธิ ปี 2566 ลดลง 32% และปี 2567 ลดลง 30% โดยหลักสะท้อนการปรับลดเป้าหมายธุรกิจของ ITC ลง รวมถึงกำไรไตรมาส 1/66 ที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่ระยะสั้นยังไม่มีปัจจัยบวกหนุน แม้คาด ITC จะกลับมาเติบโตในปี 2567

นอกจากนี้ ITC ยังคงต้องเผชิญความท้าทายด้านแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2566 โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักในไตรมาส 1/66 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างปลาทูน่า เพิ่มขึ้น 8% และเนื้อไก่ เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงต้นทุนบรรจุภัณฑ์และพลังงาน เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้ายังคงมีข้อจํากัด และยังทําได้เพียงบางส่วน

ส่วนปัญหาการสต๊อกสินค้าค้างส่ง คาดว่าจะคลี่คลายลงภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะส่งผลให้การระบายสินค้าคงค้างของลูกค้าในสหรัฐฯ และยุโรปดีขึ้น และสัญญาณคําสั่งซื้อสินค้าพรีเมียมที่เริ่มกลับมา คาดจะช่วยผลักดันราคาเฉลี่ยของกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และทำให้ยอดขายไตรมาสที่ 2/66 ให้เติบโตจากไตรมาสก่อน แต่ยังคงลดลงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฐานที่สูง

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงแข็งแกร่ง โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงยังมีปัจจัยหนุนการเติบโต อย่างการรับเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเม็ดเงินที่ใช้ในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้เหมือนมนุษย์ที่สูงขึ้น รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่มีนวัฒกรรมใหม่ๆ มามากขึ้น บริษัทได้คาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง (CAGR) ปี 2566-2569 เฉลี่ยที่ 7.3% แม้ว่าจะมีปัญหาการระบายสินค้าจากความแออัดท่าเรือที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้มีการเร่งขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Private Label ในประเทศกลุ่มเป้าหมาย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้น

ด้านบทวิเคราะห์ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า สำหรับหุ้นของ AAI ได้ปรับลดประมาณการยอดขายและกำไรของบริษัทในปี 2566 ลง เนื่องจากปัญหาการชะลอคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งบริษัทให้เหตุผลว่าลูกค้าต้องการลดสต๊อกสินค้าลง หลังปัญหาการขนส่งคลี่คลาย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่ายอดขายที่เติบโตมาก ในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยงในช่วง 9 เดือนแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสต๊อกสินค้าเพิ่มของลูกค้า โดยประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะกดยอดขายในไตรมาสที่ 1/66 ลงเป็นจุดต่ำสุดของปี ก่อนจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2/66

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในช่วงเจรจาหาลูกค้ารายใหม่ เพื่อชดเชยผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็น Upside ต่อประมาณการ ขณะที่ความเสี่ยงมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ จากอาหารเปียกไปเป็นอาหารเม็ดแทน ซึ่งมีราคาถูกกว่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์